สำนักงาน กกต. 11 ธ.ค.- “ฐิติเชฏฐ์”เข้าทำงาน กกต.วันแรก พร้อมใช้ประสบการณ์ด้านกฎหมาย 35 ปี ทำให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้า นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สักการะองค์พระพรหม ณ บริเวณศาลพระพรหม อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนเข้าทำหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง
นายฐิติเชฏฐ์ ให้สัมภาษณ์ ว่า วันนี้ได้ตั้งจิตอธิฐานสักการะพระพรหมว่าขอให้การทำงานประสบความราบรื่นและประสบความสำเร็จ บอกกับพระพรหมว่าจะตั้งใจทำงาน ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และจัดการเลือกตั้ง โดยใช้หลักกฎหมาย และเป็นไปโดยความเที่ยงธรรม
“ที่ผ่านมาผมประกอบกอาชีพอิสระ จนถึงปัจจุบัน ผมว่าผมมีความกล้าหาญในการดำเนินการต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้เป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม เนื่องจาก กกต.เป็นองค์กรอิสระ และไม่อยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลหนึ่งบุคคลใด จะต้องทำหน้าที่ของตัวเอง อย่างอิสระ และปราศจากการครอบงำ ของทุกองค์กร” นายฐิติเชฏฐ์ กล่าว
ต่อข้อถามว่าการเข้ามาทำหน้าที่ภายใต้สถานการณ์ที่ถูกวิจารณ์ รู้สึกอย่างไร นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวว่า ไม่รู้สึกหนักใจ แต่ต้องดูว่าที่ประชุม กกต.มีเหตุผลอะไร จึงมีมติต่อเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และเมื่อถามต่อว่าได้ติดตามเรื่องบัตรเลือกตั้ง และการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวว่า ได้ติดตาม แต่ยังพูดอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากยังไม่เคยเข้าประชุม ขอให้เข้าประชุมก่อน
เมื่อถามว่าย้ำว่า มั่นใจการทำหน้าที่ของ กกต.ทั้ง 7 คน จะทำหน้าที่ได้อย่างสุจริต เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวว่า มั่นใจ เพราะกระบวนการที่มีการสรรหาซึ่ง กกต. ตั้งแต่กรรมการสรรหาก็มีการตรวจสอบประวัติอย่างละเอียด และผ่านความเห็นของ สนช. ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เราจึงมีความมั่นใจต่อกกต.ทั้ง 7 คน จะจัดการเลือกตั้งด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม และเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหา การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้จะเป็นที่ยอมรับของประชาชนและนานาชาติ
ต่อข้อถามว่าเตรียมรับมือกับการเลือกตั้งที่มีกลไกซับซ้อนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวว่า จะใช้ประสบการณ์ที่เป็นนักกฎหมายมา 35 ปี ถ้าเรายืนอยู่บนหลัก ความถูกต้อง และความชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ต้องหนักใจ เพราะถ้าทำตามนี้ทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยความถูกต้อง ส่วนการที่นักการเมืองวิจารณ์ว่า กกต.ยังต้องอยู่ภายใต้มาตรา 44 นั้น ขอไม่วิจารณ์ เพราะต้องการเป็นกลางในทางการเมือง และไม่อยากไปยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หรือ ตุลาการ .- สำนักข่าวไทย