กระบี่ 4 ธ.ค.- หลังนักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่ไปถ่ายรูปกับต้นไม้ที่มีการนำมาปลูกแบบกลับหัว เพื่อจัดแสดงในงานศิลปะกรรมร่วมสมัยนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ กระบี่ 2018 เพราะทึ่งที่ต้นไม้เหล่านั้นยังมีชีวิตรอด และมีต้นอ่อนๆ แตกกิ่งก้านออกมา วันนี้ ทีมข่าวสำนักข่าวไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว พร้อมกับรวบรวมข้อมูลว่าต้นไม้เหล่านั้นอยู่รอดได้อย่างไร และนี่คือเรื่องแปลกหรือไม่ ?
ต้นไทร ซึ่งมีขนาดความสูงตั้งแต่ 2-4 เมตร ถูกนำมาปลูกเรียงรายในสภาพกลับหัว รากชี้ขึ้นฟ้า บริเวณหน้าเขื่อนริมน้ำเมืองกระบี่ นีคือหนึ่งในผลงานศิลปะของศิลปินชาวจีน ในงานไทยแลนด์ เบียนนาเล่ 2018 ซึ่งจังกวัดกระบี่เริ่มจัดแสดงมาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีผู้ไปพบว่า ต้นไม้เหล่านี้ ไม่เพียงแต่ไม่ตาย ยังแตกยอดอ่อนสร้างความรู้สึกแปลกใจให้นักท่องเทียว จนมีการชักชวนให้มาดูต่อๆ กัน
แม้ว่าในช่วงแรก ผลงานชิ้นนี้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้พบเห็นในหลายแง่มุมที่ ทวงติงถึงความไม่เหมาะสมกรณีที่มีการนำต้นไทรขนาดใหญ่มาปลูกในลักษณะผิดธรรมชาติด้วยการกลับหัวก็ตาม
จากการลงพื้นที่สำรวจวันนี้พบว่า ต้นไทรเหล่านี้มีทั้งในส่วนที่ยืนต้นตายแล้ว และส่วนที่ยังคงมีชีวิตรอด โดยทุกต้นมีการนำขุยมะพร้าวมาใส่ไว้ใต้โคน เพื่อรักษาความชื้นในจำนวนทั้งหมด 10 ต้น มี 3 ต้นที่ยืนต้นตาย ส่วน 7 ต้น ยังมีชีวิตรอด และแตกยอดอ่อน โดยเฉพาะต้นนี้ที่พบมีมากที่สุด โดยหัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่บอกเขาว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้
นายทศพร โชติช่วง หัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ อธิบายถึงสาเหตุที่ต้นไทรบางส่วนยังมีชีวิตรอดและแตกยอดอ่อน ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์ แต่เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเป็นความพยายามเอาชีวิตรอดของธรรมชาติ
โดยต้นที่แตกยอดอ่อน จะสังเกตเห็นว่ารากของต้นยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และมีดินจำนวนมากติดอยู่กับราก เมื่อฝนตกก็จะชะล้างดินในราก ซึ่งมีธาตุอาหารปนอยู่ไหลลงมาตามลำต้น ทำให้ต้นไทรได้รับอาหาร และแตกกิ่งก้านใหม่ แตกต่างจากต้นที่ยืนต้นตาย ซึ่งพบว่าทุกต้นรากแทบไม่เหลือดินปกคลุม
สำหรับต้นไม้กลับหัวทั้ง 10 ต้นนี้ ถูกจัดแสดงในชื่อผลงาน “To Be or not to be” รอดหรืออาจไม่รอด เพื่อต้องการตรวจสอบธรรมชาติว่าจะสามารถปรับตัวเอาชีวิตรอดได้หรือไม่ ในภาวะสุดขั้ว ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า ต้นไทรที่ยังคงมีชีวิตรอดอยู่นี้ จะยังคงยืนหยัดมีชีวิตรอดต่อไป กระทั่งครบกำหนดระยะเวลาการจัดแสดงในเดือน ก.พ.ปีหน้าหรือไม่ และหากมีชีวิตรอด จะมีโอกาสได้กลับไปเติบโตตามธรรมชาติที่ควรจะเป็นอีกครั้งหรือไม่.-สำนักข่าวไทย