รัฐสภา 8 ก.ย.- กรธ.เชิญกกต.แจงร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ขณะที่ประธาน กรธ. ระบุ การตั้งพรรคการเมืองต้องมีความพอดี ไม่ยากหรือง่ายเกินไป ขอให้วางใจศาลรธน.กรณี สนช.เตรียมส่งเอกสารชี้แจงเจตนารมณ์คำถามพ่วงประชามติ
การประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) วันนี้ (8 ก.ย.) เชิญนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เข้าพบเพื่อสอบถามรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ กกต.ส่งมา โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เปิดเผยว่า การเชิญกกต.มาวันนี้ เพราะต้องการทราบว่ากกต.เปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายจากเดิมอย่างไร และมีเหตุผลอย่างไรบ้าง เพื่อประกอบการพิจารณาและป้องกันการเข้าใจผิด ส่วนเรื่องใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป เบื้องต้นมีทั้งวิธีการตั้งและการดำเนินการของพรรคการเมือง แต่ยังไม่พบว่าในร่างกฎหมายลูกดังกล่าว กำหนดว่าพรรคการเมืองต้องดำเนินการตามนโยบายที่แถลงไว้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะต้องได้รับโทษ
“ผมมองว่าคงไม่ไปไกลถึงขนาดนั้น เพราะหากนักการเมืองแถลงนโยบายไปทั้งหมด แต่ไม่ปฏิบัติตามที่แถลงไว้ ก็คงต้องโดนลงโทษทั้งหมด ขณะที่รูปแบบการตั้งพรรคการเมือง หากตั้งยากจนเกินไป ก็จะทำให้นักการเมืองรุ่นใหม่ตั้งพรรคการเมืองได้ยาก แต่หากจัดตั้งพรรคการเมืองง่ายเกินไป ก็อาจทำให้มีคนคิดจะมารับเงินจากกกต.เพียงอย่างเดียวได้ ดังนั้น จะต้องกำหนดการตั้งพรรคการเมืองให้มีความพอดี ไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป ส่วนข้อเสนอของ กกต.ที่กำหนดว่า เมื่อตั้งพรรคการเมืองแล้ว ต้องส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งด้วย กรธ.ต้องพิจารณาอีกครั้ง ส่วนการกำหนดจำนวนสมาชิกพรรคการเมือง ต้องขึ้นอยู่ว่าจะกำหนดให้พรรคการเมืองยึดโยงกับประชาชนมากน้อยอย่างไร หากมุ่งเน้นให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วม ก็จำเป็นต้องมีสมาชิกพรรคในจำนวนที่มากพอสมควร” ประธานกรธ. กล่าว
สำหรับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติของศาลรัฐธรรมนูญ นายมีชัย กล่าวว่า กรธ.ไม่ต้องส่งเอกสารไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เพราะศาลแจ้งกลับมาว่ารับไว้พิจารณาแล้ว และได้ขอเอกสารเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ไม่ได้ขอมายังกรธ. เชื่อว่าเอกสารของกรธ.ที่ส่งให้ก่อนหน้านี้น่าจะเพียงพอแล้ว และไม่ทราบว่ เหตุใดศาลจึงขอเอกสารจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะต้องการทราบความเห็นก็เป็นได้ ยืนยันว่าไม่ได้รู้สึกกังวลที่ สนช.เตรียมส่งเอกสารที่ยืนยันเจตนารมณ์ให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลวินิจฉัยอย่างไรถือตามนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญมอบความไว้วางใจให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องไว้วางใจศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่าบางฝ่ายมองว่าการให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ จะเป็นวิกฤติในอนาคต ประธาน กรธ. กล่าวว่า ขออย่าคาดการณ์อะไร เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมา ก็จะให้เหตุผลมาด้วย
ส่วนที่มีกระแสข่าวระบุว่านายมีชัยสั่งให้ศึกษาการจัดการเลือกตั้งของประเทศอินเดียว่า ไม่ทราบว่า สื่อใดเผยแพร่ข่าวว่ามีกรธ.ไปศึกษาการจัดการเลือกตั้งที่ประเทศอินเดีย เพราะการศึกษาเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงประเทศอินเดีย ขอกกต.อย่ากังวล เพราะไม่ได้จะลดจำนวน กกต. เหมือนประเทศอินเดีย เพียงแต่ต้องการดูระบบการจัดการเลือกตั้งหลาย ๆ แบบจากต่างประเทศเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย