กทม. 20 พ.ย.- ของขวัญปีใหม่ คปภ. สั่งบริษัทประกันรถ จ่ายชดเชยค่าเสียประโยชน์ 500 – 1,000 บาท ระหว่างรอซ่อมรถ
ปัญหาเรื่องการเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม ดูข้อมูลจากทาง คปภ. หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องประกัน ปรากฏว่า เรื่องร้องเรียนกรณีการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ หรือรถอยู่ระหว่างซ่อม มียอดร้องเรียนมากเป็นอันดับ 1 เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่ คือบริษัทประกันไม่ยอมจ่ายค่าขาดประโยชน์ในช่วงที่ไม่มีรถใช้ เพราะประชาชนไม่มีความรู้ ไม่รู้ว่าสามารถเรียกค่าสินไหมส่วนนี้ได้
หรือถ้ามีการจ่ายให้ก็จ่ายในอัตราที่ต่ำ ถ้าเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ประมาณวันละ 300-400 บาท ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดว่ากรณีที่เราเป็นฝ่ายถูก สามารถเรียกร้องได้ตั้งแต่ถูกกระทำละเมิด สามารถเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้ ต้องหารถคันอื่นมาใช้แทน แต่ไม่ใช่ค่าขาดรายได้ที่ไม่ได้ทำงาน โดยเรียกได้จากฝ่ายคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิด ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทประกัน ซึ่งสามารถต่อรองกันได้ เช่น ถ้ารถเราถูกชน และเราเป็นฝ่ายถูก รถต้องซ่อมประมาณ 10 วัน เราก็จะไม่มีรถใช้ ถ้าอยู่ตลิ่งชัน มาทำงานพระราม 9 ก็ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายการเดินทางว่าวันละกี่บาท คูณจำนวนวันที่รถซ่อม เช่น 300 x 10 วัน ก็ 3,000 บาท ซึ่งปกติถ้าเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลก็จะจ่ายให้ 300 – 400 บาทต่อวัน แต่ก็ต้องไปเจรจากับคู่กรณี
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. บอกว่า พอมีเรื่องการเจรจาและมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน ทำให้ คปภ.หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยปรับหลักเกณฑ์ใหม่ให้ชัดเจน โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้ข้อสรุปปรับปรุงความคุ้มครองของค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ให้แก่เจ้าของรถยนต์ที่ทำประกันและอยู่ระหว่างนำไปเคลมซ่อม โดยจะกำหนดการจ่าย เป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 รถยนต์ ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราจ่ายไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท กลุ่มที่ 2 รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราจ่ายไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท และกลุ่มที่ 3 รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่งกำหนดอัตราจ่ายไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
ซึ่ง คปภ.อยู่ระหว่างยกร่างคำสั่งนายทะเบียนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม และจะบังคับใช้ ได้ในต้นปีหน้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ช่วยลดปัญหาข้อร้องเรียนได้ และเมื่อมีคำสั่งนายทะเบียนออกมาแล้วบริษัทจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข และจะต้องปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนมีความผิดฐานขัดคำสั่งนายทะเบียน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และถ้ากระทำผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ตามมาตรา 37 ประกอบมาตรา 88 พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535
สำหรับธุรกิจประกันภัยรถยนต์ทั้งระบบในปี 2560 มีเบี้ยรวม 127,266 ล้านบาท มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 81,900 ล้านบาท และ TOP 3 บริษัทที่มียอดขายประกันภัยรถยนต์สูงสุดคือ 1. วิริยะประกันภัย 2. อาคเนย์ประกันภัย และ 3. สินมั่นคง
ซึ่งธุรกิจประภันภัยรถยนต์ในยุคดิจิทัล แข่งขันกันดุเดือด และจะนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวก เช่น คปภ.กำลังจัดทำ Mobile Application เป็นระบบฐานข้อมูลกลาง ซึ่งจะมีข้อมูลเรื่องการซื้อประกันภัย การต่อใบอนุญาตกรมธรรม์ การตรวจสอบระยะเวลาความคุ้มครองของกรมธรรม์ การตรวจสอบอู่ซ่อมรถ เลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉิน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
บริษัทประกันเองก็จะนำหุ่นยนต์ หรือ AI มาคำนวณเบี้ยประกัน เพื่อลดข้อผิดพลาดของมนุษย์ รวมทั้งจะมีการออกประกันตามไมล์ ที่เชื่อมกับระบบ Smartphone เมื่อมีการใช้รถยนต์ ระบบประกันก็จะเปิด อัติโนมัติ และ ถ้าไม่ได้ขับรถ ประกันก็ไม่ได้คุ้มครอง ทำให้ประหยัดเงินในการจ่ายค่าเบี้ยประกัน.-สำนักข่าวไทย