กรุงเทพฯ 19 พ.ย.- วันนี้จะมีประชุมคณะกรรมการบริหารการยางแห่งประเทศไทย เพื่อสรุปแนวทางการบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวสวนยาง โดยวาระเร่งด่วนที่เตรียมนำเสนอ ครม.เพื่อของบประมาณคือ การจ่ายเงินชดเชยการขาดรายได้ 1,800 บาท/ไร่ รายละไม่เกิน 15 ไร่
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือชาวสวนยาง จากการประชุมร่วมกับเครือข่ายชาวสวนยางพาราเห็นตรงกันว่า มาตรการที่จะยกระดับราคายางพาราได้เร็วที่สุด คือ การหยุดกรีดยางพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งได้ให้เครือข่ายไปสอบถามชาวสวนยางว่าเห็นด้วยหรือไม่ เนื่องจากตอนนี้ทั่วโลกใช้ยางพาราเดือนละ 1,400,000 ตัน โดยเป็นผลผลิตจากไทย 400,000 ตัน หากไทยหยุดกรีดยาง ยางพาราจะหายจากตลาดโลกไป 400,000 ตัน ใน 1 เดือน ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ทำสัญญาซื้อขายในตลาดล่วงหน้า เมื่อถึงกำหนดต้องส่งสินค้า จะหาสินค้าไม่ได้ ต้องมาซื้อยางของไทย จึงจะฉุดให้ราคาสูงขึ้น
จากการสอบถามผู้แทนเกษตรกรถึงรายได้จากการกรีดยางใน 1 เดือน/ไร่ อยู่ที่ประมาณ 1,800 บาท/ไร่ เป็นมาตรการที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกร ไม่มีการบังคับ หากเห็นด้วยและกำหนดมาตรการดูแลกันเองไม่ให้มีผู้แอบกรีดยางขายได้แล้ว จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อของบประมาณมาดำเนินมาตรการนี้
ขณะที่ นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการบริหาร กยท.วันนี้ เพื่อหาข้อสรุปมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี งบประมาณที่ กยท.จะเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือ 1,800 บาท/ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ โดยจะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. และที่ดินที่ปลูกยางมีเอกสารสิทธิถูกต้อง 1,345,595 ครัวเรือน โดยจะช่วยเหลือทั้งเจ้าของสวนและผู้รับจ้างกรีดยาง สำหรับพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศซึ่งมีเอกสารสิทธิถูกต้องมี 14,517,379 ไร่
กรณีข่าวนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงรัฐบาลจะใช้มาตรการช่วยเหลือเจ้าของสวนยางและคนกรีดเฉพาะสวนที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น ซึ่งถือว่ารัฐบาลแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะชาวสวนยางอีกจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิ์ความช่วยเหลือดังกล่าว เนื่องจากยังมีพื้นที่ปลูกยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. แต่เป็นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 4,000,000 กว่าไร่ นายเยี่ยม ชี้แจงว่ารัฐบาลตั้งใจจะช่วยเหลือชาวสวนยางและคนกรีดยางทุกคน แต่เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางที่ปลูกยางในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมายและขึ้นทะเบียนกับ กยท. เป็นไปตาม พ.ร.บ.กยท.ปี 2558 ส่วนผู้ที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์นั้น กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ส่วนข้อเรียกร้องให้นำยาง 100,000 ตัน ในสตอกยางพาราของรัฐบาล หรือยางแผ่น 100 ล้านกิโลกรัม ยังอยู่ในโกดังรัฐมาใช้ประโยชน์ และตรวจสอบว่ามีครบตามจำนวน 100 ล้านกิโลกรัมหรือไม่ และมียางที่สามารถใช้ได้ปริมาณเท่าไร กรณี กยท.ซื้อยางพาราเก็บไว้ตั้งแต่ปี 2556-2557 และเสียค่าเช่าโกดังเก็บยางปีละ 120 ล้านบาท ทำไมรัฐบาลจึงไม่นำมาใช้ประโยชน์ เพราะเคยเสนอให้นำมาแปรรูป อาทิ ถนนยางพารา ทำเขื่อนยาง อ่างเก็บน้ำ สนามกีฬา สนามเด็กเล่น ห้องเรียนเด็กเล็ก เป็นต้น
รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท.ชี้แจงว่า จากรายงานของผู้รับผิดชอบโกดังจัดเก็บรายงานว่า จำนวนยังอยู่ครบและคุณภาพของยางลดลงตามอายุที่จัดเก็บ โดยยางที่รัฐบาลในปี 2556-2557 ซื้อมาเพื่อรักษาเสถียรภาพและมีคงเหลือประมาณ 104,000 ตันนั้น ขณะนี้ กยท.กำลังทำแผนการนำยางแผ่นรมควันคงเหลือนี้ไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ หากหน่วยงานใดประสงค์จะนำผลิตภัณฑ์ยางเหล่านี้ไปใช้แจ้งจำนวนความประสงค์และตั้งงบประมาณรองรับ ก็สามารถดำเนินการได้ทันที.-สำนักข่าวไทย