กรุงเทพฯ 16 พ.ย. – กรมบัญชีกลางเร่งเดินหน้ามาตรการชดเชยเงินให้ผู้มีรายได้น้อยที่ใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่ 1 พ.ย. 61 – 30 เม.ย. 62
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้ข้อมูลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระราคาสินค้าอุปโภคบริโภค (ไม่รวมสินค้าที่มีภาษีสรรพสามิต อาทิเช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ น้ำมันเชื้อเพลิง หรือสินค้าไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มอื่น ๆ) เริ่มแล้วตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2561 โดยมีข้อมูลการใช้จ่ายระหว่างวันที่ 1 – 14 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 557,266 ราย เป็นเงินกว่า 145 ล้านบาท มีจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%)จำนวนกว่า 9 ล้านบาท และยืนยันความพร้อมในการจ่ายเงินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว 5% เข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ให้แก่ผู้มีสิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อนำไปใช้จ่ายต่อ และเงินชดเชยอีก 1% เพื่อการออม โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารชนิดพิเศษที่กรมบัญชีกลางให้ธนาคารเปิดให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานการออมให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยต่อไป โดยข้อมูลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระระหว่างวันที่ 1 – 30 พฤศจิกายน 2561 จ่ายชดเชยในวันที่ 14 ธ.ค. 2561
ส่วนความคืบหน้าของร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และร้านค้าเอกชนอื่นที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และสมัครเข้าร่วมมาตรการฯ แล้ว มีจำนวน 4,247 ร้านค้า โดยผู้มีสิทธิจะได้รับเงินชดเชยต่อเมื่อชำระราคาสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งจากวงเงินกระเป๋าสวัสดิการ (200/300 บาท) และวงเงินที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเติมเองในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และรับชำระราคาสินค้าผ่านเครื่อง EDC ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 แล้วเท่านั้น
สำหรับร้านค้าเอกชนอื่นที่สมัครเข้าร่วมมาตรการฯ ให้สังเกตสัญลักษณ์สติ๊กเกอร์ “จ่ายด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money PromptCard)” ผู้มีสิทธิสามารถใช้ได้เฉพาะส่วนของเงินในกระเป๋า เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) เท่านั้น ในการชำระราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะได้รับเงินชดเชยคืนเช่นกัน
ทั้งนี้ ข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายดังกล่าวจะนำมาประมวลผล เพื่อจ่ายเงินชดเชย 6% ไม่เกิน 500 บาท (5% โอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อการใช้จ่ายต่อไป และ 1% โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิ เพื่อการออม กำหนดจ่ายทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป)
ทั้งนี้ ร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าเอกชนอื่นที่สนใจเข้าร่วมมาตรการฯ นี้สามารถสมัครได้ โดย (1) ร้านค้าที่ยัง ไม่มีอุปกรณ์ POS จะต้องลงทุนในการติดตั้งอุปกรณ์ POS เองก่อน (2) ร้านค้าที่มีเครื่อง POS อยู่แล้ว สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการฯ ได้ที่กรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อกรมบัญชีกลางรวบรวมข้อมูลของร้านค้าส่งให้ บมจ. ธนาคารกรุงไทย ทดสอบการรับส่งข้อมูลต่อไป
สำหรับความพร้อมในการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารรองรับเงินชดเชย 1% เพื่อการออม กรมบัญชีกลางได้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยได้ขอความร่วมมือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารชนิดพิเศษให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกรายแบ่งตามอาชีพ โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอาชีพเกษตรกร และลูกจ้างภาคเกษตรกรรม (รับจ้างทำนา ทำสวน กรีดยาง) เปิดบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอาชีพอื่นนอกเหนือจากอาชีพดังกล่าว เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารออมสิน โดยผู้มีรายได้น้อยไม่ต้องเดินทางไปเปิดบัญชีที่ธนาคารด้วยตนเอง บัญชีเงินฝากธนาคารชนิดพิเศษดังกล่าว มีระยะเวลา 3 ปี (ไม่สามารถถอนเงินก่อนครบกำหนดได้) ไม่มีข้อจำกัดการโอนเงินขั้นต่ำ และยกเว้นค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี โดยมีอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยกเว้นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และมีคุณสมบัติที่สามารถสมัครเป็นสมาชิก กอช. ได้ เมื่อยอดเงินสะสมในบัญชีดังกล่าวครบ 50 บาท จะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีรายตัวของสมาชิก กอช. ต่อไป
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวในตอนท้ายว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน ของผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างรากฐานการออมในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีเงินเก็บสำหรับการใช้จ่ายในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว . – สำนักข่าวไทย