กทม. 12 พ.ย. – รมว.พาณิชย์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา แถลงยืนยันสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติ กฎหมายสิทธิบัตรไทยไม่คุ้มครอง แม้ว่าบริษัทต่างชาติในไทยจะยื่นขอรับสิทธิบัตร และผ่านขั้นตอนประกาศโฆษณา 90 วัน โดยไม่มีผู้คัดค้าน
แม้บริษัทต่างชาติในไทยจะยื่นขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติ กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่ รมว.พาณิชย์ยืนยันว่าไม่สามารถจดสิทธิบัติตามคำขอได้ ถ้าหากสารนั้นเป็นสารสกัดในกลุ่มแคนนาบินอยด์ (CBD) ที่เป็นสารที่มีอยู่ในกัญชาตามธรรมชาติ เพราะตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร ในมาตรา 9 วรรค 1 ระบุไว้ชัดเจนว่า สารสกัดจากพืชที่มีอยู่ตามธรรมชาติจะไม่ได้รับความคุ้มครอง
ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการยื่นขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาของบริษัทต่างชาติในไทย อาจส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการปลดล็อกกัญชาที่กำลังมีการพิจารณาเพื่อใช้กัญชาทางการแพทย์ เพราะผ่านขั้นตอนประกาศโฆษณา 90 วัน หลังการยื่นขอจดสิทธิบัตรโดยไม่มีผู้คัดค้าน
รมว.พาณิชย์อธิบายว่า แม้จะผ่านขั้นตอนนั้นแล้ว แต่ยังมีกระบวนการตรวจสอบการประดิษฐ์อีก 5 ปี และขั้นตอนนี้หากขัดข้อกฎหมาย เรื่องนั้นก็จะถูกยกคำขอไปเอง ส่วนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ปฏิเสธรับคำขอยื่นจดสิทธิบัตรตั้งแต่แรก เพราะไม่สามารถปฏิเสธการรับคำขอตั้งแต่ต้นได้
การยื่นขอจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในกรณีสารสกัดกัญชาจะทำได้ หากเป็นตำรับยาที่มีส่วนผสมจากวัตถุดิบอื่น หรือการสังเคราะห์สารชนิดใหม่ที่ดัดแปลงจากสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติ จนมีฤทธิ์ทางยาเหนือกว่าสารสกัดธรรมชาติ หรือวิธีการพัฒนาสายพันธุ์กัญชา และมีคำยืนยันด้วยว่าหากมีการปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ได้ นักวิจัยไทยยังสามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์และวิจัยได้
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงผ่านเอกสารมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับ รมว.พาณิชย์ แถลงในวันนี้ คือการยื่นคำขอรับสิทธิบัตร เป็นสิทธิที่ผู้ประดิษฐ์ จะพึงดำเนินการได้ตามกฎหมายสิทธิบัตร หากมีเอกสารครบถ้วน ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าคำขอที่ได้รับไว้นั้นจะได้รับการจดสิทธิบัตร ส่วนกรณีนี้สารสกัดจากกัญชาตามธรรมชาติ เป็นสารสกัดจากพืช ซึ่งกฎหมายสิทธิบัตรของไทยไม่ให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับสิทธิบัตร
สำหรับการจดสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา หลังมีผู้ยื่นคำร้อง ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการประกาศโฆษณา เพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านหากมีผู้เห็นว่าไม่เป็นตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือผู้ขอไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนยื่นขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย หากตรวจสอบพบว่าเคยมีแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมือนหรือคล้ายกันเผยแพร่มาก่อน และถ้าคำขอถูกต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมาย ก็จะได้รับสิทธิบัตร แต่หากไม่ถูกต้อง กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็จะยกคำขอ. – สำนักข่าวไทย