สธ.12 พ.ย.-แพทย์จุฬาฯ เรียกร้องให้ อภ.และกพย.ฟ้องกรมทรัพย์สินทางปัญญา กรณีรับจดสิทธิบัตรกัญชาจากต่างชาติ ชี้กัญชายังเป็นยาเสพติดยังไม่แก้กฎหมาย ควรถือเป็นโฆษะ ขณะที่ อภ.กังวล เกรงไม่สามารถเดินหน้าวิจัยศึกษากัญชาต่อได้
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเด็นสิทธิบัตรกัญชา ว่า ควรทำเรื่องนี้ ให้ชัดเจนในเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย เนื่องจากการรับยื่นคำขอสิทธิบัตรกัญชา เมื่อพิจารณาแล้วมีความผิดชัดเจนตั้งแต่มาตรา 9(1)ห้ามยื่นสิทธิบัตรสารธรรมชาติในกัญชาและมาตรา 9(4) ห้ามยื่นสิทธิบัตร ที่เป็นการถือสิทธิในการใช้บำบัดโรคแต่กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับฝ่าฝืนตรงนี้ ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปฯ เห็นว่า ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องมีความชัดเจนกว่านี้และจากการที่ได้เห็นคำชี้แจงของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ระบุว่าไม่สามารถปฏิเสธการรับคำขอสิทธิบัตรได้ ซึ่งในความจริงทำไมจะปฎิเสธไม่ได้เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายในประเทศไทยอยู่ ตราบใดที่ยังไม่ได้แก้ พ.ร.บ.ยาเสพติด 2.พ.ร.บ.สิทธิบัตร ม.9(1) ระบุว่า “สารสกัดจากพืชรับจดสิทธิบัตรไม่ได้” การรับจดจึงผิดกฎหมายนี้ด้วย และ 3.เมื่อกรมฯ ไปรับการยื่นขอจดสิทธิบัตรเอาไว้แล้วจะมีทางออกอย่างไร แนะนำให้ใช้อำนาจอธิบดียกเลิกในขั้นตอนขอจดทะเบียนไปก่อน เพราะผิดตั้งแต่ต้น ก็ต้องเป็นโมฆะตั้งแต่ต้นแล้ว
นพ.ธีระวัฒน์ ยังกล่าวว่า ถ้าหากเรื่องนี้ถ้าเรื่องนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุป แนะนำ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) และ กพย. (ศูนย์วิชาการและเฝ้าระวังระบบยา) ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ควรยื่นฟ้องศาลเพื่อขอความเป็นธรรมเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะทำการศึกษาหรือสกัดสารกัญชาทางการแพทย์ไม่ได้ เพราะติดสิทธิบัตร และหากพิจารณากฎหมายพ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ จะทราบทันทีว่า มาตรา 36 ระบุว่าทันที่ที่ได้มีการยื่นและรับเรื่องการขอจดสิทธิบัตร ถือได้รับการคุ้มครองแล้ว แม้จะยังไม่ได้รับเลขสิทธิบัตร ดังนั้น ในระยะเวลา 5 ปีที่เป็นช่วงการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีความใหม่หรือไม่นั้น แต่ช่วงระยะเวลานี้ก็ถือว่าได้รับการคุ้มครองไปแล้ว ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้มอบให้ทางฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะจากถ้อยคำแถลงของกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกมาก็ยังไม่มั่นใจว่าจะส่งผลกระทบหรือไม่อยู่ดี อย่างตอนนี้บอร์ด อภ.อนุมัติงบไปแล้ว 120 ล้านบาท แม้งบฯ จะยังไม่ได้ใช้แต่ตามขั้นตอน ผอ.องค์การเภสัชกรรม(อภ.) จะต้องไปแจงต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับการใช้งบดังกล่าว เพราะมีการเปลี่ยนแปลงใช้งบ เดิมเป็นงบผลิตยาทั่วไป แต่เปลี่ยนมาใช้ในเรื่องโรงงานสกัดสารกัญชาทางการแพทย์
ส่วนเครื่องสกัดสารกัญชาที่จะนำเข้าจากต่างประเทศนั้นใช้งบฯ8ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำทีโออาร์ ซึ่งหากซื้อเข้ามาแล้วใช้ไม่ได้ ก็คงต้องนำมาใช้สกัดอย่างอื่น ซึ่งทำได้ แต่ไม่ดีเท่าสกัดสารกัญชา .-สำนักข่าวไทย