กรุงเทพฯ 10 พ.ย.- ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ระบุ ฝนยังคงตกหนักในภาคใต้ ขณะที่หน่วยงานในพื้นที่เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำประเทศไทย วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ 07.00 น. ว่า สภาพอากาศ และฝน : วันนี้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต สำหรับปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (182 มม.) สุราษฎร์ธานี (166.5 มม.) ชุมพร (163.2 มม.) และ จ.นครศรีธรรมราช (150 มม.) สถานการณ์น้ำภาคใต้ : จากอิทธิพลหย่อมกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมชายฝั่งภาคใต้ตอนล่างส่งผลให้ฝนตกหนักใน 2 วันที่ผ่านมาก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ ประกอบกับอิทธิพลน้ำทะเลหนุนทำให้น้ำระบายลงสู่ทะเลได้ช้าลง ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมขังและระดับน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งในพื้นที่ จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยกเว้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระดับน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง 0.81 ม. แนวโน้มลดลง ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ อ่างฯ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาตรน้ำในอ่างฯ คิดเป็น90 ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 2.70 ล้าน ลบ.ม./วัน ปริมาณน้ำระบาย 3.46 ล้าน ลบ.ม./วัน ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในช่วง 1-2 วัน มีแนวโน้มคงเดิม และ อ่างฯ ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ คิดเป็น 83 ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 3.83 ล้าน ลบ.ม./วัน ปริมาณน้ำระบาย 2.36 ล้าน ลบ.ม./วัน ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในช่วง 1-2 วัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ ทั้งนี้ ปภ. ทหารในพื้นที่ โครงการชลประทาน อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งให้การช่วยเหลือและสนับสนุนเครื่อง สูบน้ำ เครื่องจักรกลอื่นๆ เพื่อระบายน้ำในพื้นที่
การเตรียมการรับสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ตามแผนเตรียมการรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ที่เสี่ยงน้ำท่วมเป็นประจำ 16 จังหวัดของภาคใต้ ทั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เรือ รถแทรกเตอร์ รถขุด และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ เพื่อระบายน้ำ การอพยพประชาชน และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเป็นการเร่งด่วน ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้น ทั้งการติดตามสภาพอากาศ การพิจารณาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ และจัดเตรียมบุคลากร เครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ รวมถึงสนับสนุนอื่น ๆ ให้พร้อมสนับสนุนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ : อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 35 อ่าง มีปริมาณน้ำ 57,548 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ปริมาณน้ำใช้การ 34,006 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 419 แห่ง มีปริมาณน้ำ 3,829 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 ปริมาณน้ำใช้การ 3,397 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำ : อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าคิดเป็น 80 ของความจุ ที่ต้องเฝ้าระวัง (ภาคใต้) : ขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ แก่งกระจาน ปราณบุรี และรัชชประภา ขนาดกลาง 15 แห่ง อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรน้ำน้อยกว่าคิดเป็น 50 ของ ปริมาณน้ำใช้การ : ขนาดใหญ่ 10 แห่ง ได้แก่ แม่กวงอุดมธารา แม่มอก ห้วยหลวง อุบลรัตน์ มูลบน ลำนางรอง ลำพระเพลิง สิรินธร ทับเสลา และกระเสียว ขนาดกลาง 87 แห่ง
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำ : ทุกภาคของประเทศมีระดับน้ำน้อยถึงปกติ ยกเว้นภาคใต้ แม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ อัตราการไหลผ่าน 400 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำมูล อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา อัตราการไหลผ่าน 6 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำชี อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ อัตราการไหลผ่าน 12 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี อัตราการไหลผ่าน 89 ลบ.ม./วินาที ส่วนแม่น้ำโขงระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยทุกสถานี คุณภาพน้ำ : ภาพรวมคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นที่ แม่น้ำตราด อ.เมืองตราด จ.ตราด และคลองชะอวด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ค่าความเค็มเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา ส่วน แม่น้ำชี อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม แม่น้ำป่าสัก อ.แก่งคอย จ.สระบุรี แม่น้ำนครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง -สำนักข่าวไทย