กรุงเทพฯ 10 พ.ย.-กยท.ร่วมกับหลายหน่วยงานจัดงาน“มหกรรมยางพาราท้องถิ่นและของดีเขตภาคเหนือ” ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 5 – 11 พ.ย. 61 ณ ลานสำนักงานเทศบาลตำบลห้วยซ้อและลานเวทีกลาง จ.เชียงราย
นายณรงค์ อ่อนสอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)จัดงาน“มหกรรมยางพาราท้องถิ่นและของดีเขตภาคเหนือ”ที่ จ.เชียงรายในครั้งนี้ จะสร้างความรับรู้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบการ ให้มีกิจกรรมเพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนสินค้า นวัตกรรม เชื่อมโยงสร้างจุดแข็งให้กับสินค้ายางพารา เกิดการเจรจาการค้าและการลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนายางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้งยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำไปสู่ความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในการประกอบอาชีพการทำสวนยาง
นายณรงค์ กล่าวว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 20 ล้านไร่ สามารถสร้างรายได้เข้าให้ประเทศไทยในปี พ.ศ.2560 กว่า 4 แสนล้านบาท และมีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกร เนื่องจากก่อให้เกิดการกระจายรายได้ การสร้างงาน สร้างความมั่นคงในอาชีพได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง กว่า 6 ล้านคน นอกจากนี้ ยังเป็นการลดการอพยพย้ายถิ่นเดิมของเกษตรกรจากชนบทเข้าสู่สังคมเมือง จากการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับการกรีดยาง แปรรูปยาง และการดูแลรักษาต้นยางอย่างต่อเนื่องเกือบทั้งปี รวมถึงยางพารายังเป็นพืชที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยสร้างความชุ่มชื้น และระบบนิเวศน์ในพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างในพื้นที่ปลูกยางใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนายางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ กระทั่งปัจจุบันได้พัฒนาสู่จัดตั้งกลุ่ม/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการรวมกลุ่มแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ยางพารารูปแบบต่างๆ เพื่อให้ยางพาราของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง
นายพนัสพล โกสิยาภรณ์ ผู้อำนวยการกยท.จังหวัดเชียงราย ในนามคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ดำเนินงานมหกรรมยางพาราท้องถิ่นและของดีเขตภาคเหนือ กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมยางพาราท้องถิ่นและของดีเขตภาคเหนือ จัดขึ้นภายใต้งานเทศกาลยางพารานานาชาติภาคเหนือ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมและผลงานของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีช่องทาง และเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพารามากขึ้น เปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบการได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการด้านยางพารา ตลอดจนผลิตภัณฑ์ยางพาราซึ่งกันและกัน
ภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายและมีความน่าสนใจ ได้แก่ พิธีลงนามข้อตกลงการซื้อขายยางพาราระหว่างผู้ประกอบการยางพารานานาชาติ การแสดงนิทรรศการความรู้วิชาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยางพารา การแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตชาวสวนยางภาคเหนือ การแสดงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น การประกวดสินค้าเกษตรท้องถิ่นของดีเมืองเชียงราย การแข่งขันกรีดยางชิงแชมป์ กยท.เขตภาคเหนือ และการประกวดธิดาชาวสวนยางเพื่อเป็นฑูตวัฒนวิธีด้านยางพารา ซึ่งผู้สนใจสามารถเที่ยวชมงานมหกรรมยางพาราท้องถิ่นและของดีเขตภาคเหนือได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561-สำนักข่าวไทย