กรุงเทพ ฯ 9 พ.ย. – ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มองแบงก์ชาติเลื่อนใช้เกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นเมษายน ปีหน้า ไม่มีผลต่อตลาดและผู้ซื้อ เพราะตลาดรับรู้ข่าวไปมากแล้ว ขณะที่โบรกเกอร์มองช่วยปลดล็อคให้โอนได้ปกติ
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มพฤกษาพรีเมี่ยม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย ของธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) ที่เลื่อนการบังคับใช้เป็น 1 เมษายน 2562 ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และ ผู้ซื้อบ้าน ได้ซึมซับหลักเกณฑ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว และมีผลกระทบทางจิตวิทยาไปแล้ว แม้ธปท.จะมีการผ่อนคลายเกณฑ์และเลื่อนการบังคับใช้ออกไปก็ตาม เพราะแม้จะเลื่อนเวลาออกไปอีก 3 เดือน ผู้กู้ที่ไม่มีเงินดาวน์เพียงพอก็คงไม่สามารถหาเงินดาวน์มาเพิ่มได้ และเห็นว่าการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยังมีความรุนแรง เพราะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ มีหลักประกันคือ บ้าน คอนโดมิเนียม ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ อยู่ประมาณร้อยละ 3
นางสาวนวลพรรรณ น้อยรัชชุกร รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า เกณฑ์แบงก์ชาติที่ออกมา ถือว่าผ่อนคลายความกังวล โดยเฉพาะประเด็นที่ให้ผู้จะซื้อจะขาย ที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2561 ไม่ต้องถูกบังคับให้ใช้เกณฑ์ใหม่ดังกล่าว ให้ใชเกณฑ์เดิมได้ ทำให้ยอดขายรอโอน ที่มีอยู่ประมาณ 332,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นไตรมาส 2/61 ไม่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการเลื่อนวันมีผลบังคับใช้เป็น วันที่ 1 เมษายน 2562 จะช่วยให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มีเวลาในการเร่งขายที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น
ประเด็นที่คลายกังวลอีกเรื่อง คือ คนที่จะผ่อนบ้าน 2 หลัง ถ้าหลังแรก ผ่อนไป 3 ปีแล้ว หลังที่ 2 สามารถซื้อได้ โดยวางเงินดาวน์เพียงร้อยละ 10 ถือว่าช่วยผ่อนปรน สำหรับผู้ที่อยากมีบ้านหลังที่สอง เป็นบวกต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ . – สำนักข่าวไทย