กรุงเทพฯ 5 พ.ย. – ภายหลัง ป.ป.ช.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา กําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 หนึ่งกลุ่มที่ต้องยื่นเพิ่มเติม คือ สภามหาวิทยาลัย จนเกิดกระแสวิจารณ์ เสนอให้ ป.ป.ช.แก้กฎหมาย
นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ-ในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ต้องแจงทรัพย์สิน-หนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อ ป.ป.ช. เป็นข้อบังคับใหม่ที่ต้องทำ แต่กลับสร้างผลกระทบ
นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม เชื่อเกิดความวุ่นวาย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่เห็นความจำเป็นต้องเเจ้ง เพราะกรรมการทำหน้าที่เสนอ เเนะนำนโยบายให้มหาวิทยาลัย ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหาร มีผลตอบเเทนเพียงเบี้ยประชุมตามระเบียบราชการ ขณะที่ภาระงานก็มีมาก หากต้องมาเเจ้งทรัพย์สินอีก กรรมการหลายคนก็อยากลาออก
ด้านประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เตรียมส่งหนังสือให้ ป.ป.ช.ทบทวนกฎหมาย ขณะที่ประชุม ทปอ.ใหญ่จะหารือ 7 พ.ย.นี้ หลังได้รับผลกระทบหนัก หลายสถาบันมีกรรมการสภาเเจ้งความจำนงขอลาออกเกินครึ่ง เพราะส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน เนื่องจาก มทร.เน้นสอนเทคโนโลยี กรรมการจึงต้องมาจากเอกชน เพื่อผลิตบัณฑิตให้ตรงกับตลาดแรงงาน หากไม่ทบทวนกฎหมาย การบริหารงานต้องสะดุด อุดมศึกษาไทยอาจล้มทั้งระบบ
กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมหารือ ป.ป.ช.ให้ทบทวนกฎหมาย เพราะภาคเอกชนที่เข้ามาเป็นกรรมการสภา มีส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษา หากลาออกหมดจะเกิดผลกระทบ แต่หากทบทวนไม่ได้ กระทรวงฯ ต้องหากรรมการทดแทน ส่วนตัวมองว่า ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่ดี แต่แสดงออกได้หลายวิธี
ปมการลาออกหลัง ป.ป.ช.ให้ชี้แจงทรัพย์สิน เคยเป็นปรากฏการณ์ในระบบอุดมศึกษาไทย เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ที่รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล 13 คน ลาออกพร้อมกัน วันนี้ปัญหาถูกนำกลับมาถกเถียงอีกครั้ง แต่ในทางกลับกัน หากกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องการสร้างบรรทัดฐานเรื่องความโปร่งใส การเปิดบัญชีทรัพย์สินจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการการศึกษาไทย. – สำนักข่าวไทย