กรุงเทพฯ 5 พ.ย. – ทุกๆ 2 ปี 100 กว่าประเทศทั่วโลกจะต้องร่วมประชุมว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย เพื่อกำหนดแนวทางลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชากรโลก ปีนี้เป็นครั้งที่ 13 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทย และเป็นประเทศที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม
สถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากความไม่ปลอดภัย ทั้งความรุนแรง หรืออุบัติเหตุทุกรูปแบบ มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นทุกปี ถือเป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ การร่วมหาแนวทางป้องกัน ลดความสูญเสียอย่างยั่งยืน จึงเป็นหัวใจสำคัญของการประชุมความปลอดภัยระดับโลกครั้งนี้ และเป็นเวทีให้แต่ละประเทศถ่ายทอดบทเรียนความก้าวหน้าในการแก้ปัญหา และนำเสนอองค์ความรู้จากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ให้ทุกประเทศนำไปเป็นต้นแบบ กำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ
ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งคร่าชีวิตคนทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคน/ปี ขณะที่ไทยวิกฤติหนัก แต่ละปีบาดเจ็บไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน พิการ 40,000 คน เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 20,000 คน สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีแนวโน้มขึ้นเป็นอันดับ 1 สาเหตุเพราะไทยไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องให้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวดเท่าที่ควร จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะนำองค์ความรู้จากนานาประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด
ขณะที่นางโซเลกา แมนเดลา ทูตรณรงค์ด้านการสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยจากแอฟริกา สะท้อนว่า เด็กเป็นอนาคตของประเทศ แต่กลับพบว่า มีเด็กไม่ต่ำกว่า 3,000 คน/ปี เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทางไปเรียน หนึ่งในนั้นคือลูกของเธอ ซึ่งเสียชีวิตจากคนเมาแล้วขับ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องมีนโยบายแก้ปัญหาอย่างจริงจัง รวมถึงสร้างหรือปรับปรุงถนนให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน
นอกจากนี้ ความรุนแรงในเด็กและสตรี ไม่ว่าจะเป็นเด็กจมน้ำ บาดเจ็บทุกรูปแบบ ความปลอดภัยในการทำงาน เป็นอีกประเด็นที่หยิบยกมาหารือ ก่อนทำข้อเสนอต่อประชาคมโลก แล้วนำบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อความผาสุกของคนไทย ก้าวสู่โลกที่ปลอดภัย ห่างไกลการบาดเจ็บและความรุนแรงอย่างยั่งยืน. – สำนักข่าวไทย