กรมราชทัณฑ์ 5 พ.ย.-กรมราชทัณฑ์ประกาศเดินหน้ามาตรการห้ามจำหน่ายบุหรี่ในเรือนจำทั่วประเทศ หลังจากนำร่องในเรือนจำ 13 แห่ง พบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและโรคเรื้อรังอื่นๆที่เป็นผลจากบุหรี่ลดลง
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข หาแนวทางและวางมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบในเรือนจำเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากพิษภัย ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า เรือนจำทั่วประเทศมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มประชากรทั่วไป รวมถึงการสัมผัสควันบุหรี่มือสองก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งต่อผู้ต้องขังที่ไม่ได้สูบบุหรี่ และเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ตลอดจนการควบคุมการสูบบุหรี่ในเรือนจำเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของผู้ต้องขัง และเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อไปว่า กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการควบคุมการสูบบุหรี่ในเรือนจำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 โดยการจัดเขตปลอดบุหรี่ในเรือนจำ/จัดเขตสูบบุหรี่นอกอาคารและการกำหนดมาตรการห้ามขายบุหรี่ ยาเส้นในเรือนจำและขณะนี้มีเรือนจำนำร่อง 13 แห่ง ที่ห้ามขายบุหรี่ ยาเส้น ได้แก่ เรือนจำจังหวัดอำนาจเจริญ เรือนจำกลางราชบุรี เรือนจำจังหวัดจันทบุรี เรือนจำอำเภอธัญบุรี ทัณฑสถานบำบัดพิเศษปทุมธานี ทัณฑสถานหญิงธนบุรี เรือนจำอำเภอสีคิ้ว ทัณฑสถานวัยหนุ่มปทุมธานี ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ทัณฑสถานหญิงสงขลา ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก เรือนจำกลางเชียงรายและเรือนจำจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งผลจากการงดการจำหน่ายบุหรี่ในเรือนจำ พบว่า ผู้ต้องขังมีการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจลดลง ลดปัจจัยการคุกคามของโรคในกลุ่มผู้ต้องขังป่วยเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองตีบ ส่งผลให้ลดภาระทางการรักษาพยาบาลลงอย่างมาก
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ พร้อมเดินหน้าเร่งนโยบายมาตรการห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบในเรือนจำทุกแห่งทั่วประเทศ โดยเริ่มรณรงค์ให้เรือนจำเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และเลิกจำหน่ายบุหรี่ในเรือนจำให้เป็นไปตามกฎหมายที่ห้ามสูบบุหรี่ภายในสถานที่ราชการ ซึ่งเรือนจำก็ถือเป็นสถานที่ราชการจึงจัดอยู่ในเขตห้ามสูบบุหรี่ อีกทั้ง ผู้ต้องขังเมื่อนำตัวเข้าควบคุมภายในเรือนจำ เป็นโอกาสที่จะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการเลิกบุหรี่ บริหารเวลาว่าง ทำกิจกรรมอื่นๆที่เป็นประโยชน์ เช่น การฝึกระเบียบวินัย การฝึกวิชาชีพต่างๆ และกิจกรรมทางศาสนาเพื่อขัดเกลาจิตใจ เนื่องจากบุหรี่ ยาเส้น เป็นสินค้าที่เสพติด ทำลายสุขภาพทั้งตัวผู้สูบและผู้ที่อยู่รอบข้าง ส่งผลให้ผู้ต้องขังเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้.-สำนักข่าวไทย