31 ต.ค.-วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันที่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม ขีดเส้นขอฟังคำตอบการแก้ไขปัญหา หลังจากชุมนุมหลายวันก่อน และเดือดร้อนจากราคาปาล์มตกต่ำ โดยระบุว่าหากไม่มีคำตอบ จะยกพลจากภาคใต้ มาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล
โดยราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันตกต่ำต่อเนื่อง ชาวสวนปาล์มน้ำมัน เช่นที่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี บอกว่าราคาผลผลิตต่ำกว่าต้นทุน ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ กิโลกรัมละ 3 บาท ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.70 บาท สวนทางกับราคาน้ำมันพืชในปัจจุบัน ลิตรละ 42 บาท ราคาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร ควรจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 4.50 บาท หรือ 5 บาท จึงจะเหมาะสมกับต้นทุน เพราะเกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนหลายอย่าง ค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่าบรรทุกผลผลิตไปขาย ตกอยู่ที่เจ้าของสวน ซึ่งผลผลิต 1 ตัน ค่าแรง 600-700 บาท ขณะที่ราคาผลผลิตกิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งต่ำกว่าทุน โดยตัวแทนชาวสวนปาล์มฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อ เช่น ให้มีการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ให้มีการผลิตและเพิ่มการใช้ไบโอดีเซลบี บี 20 และบี 100 ให้เป็นพลังงานทางเลือกสำหรับประชาชน เพื่อรักษาเสถียรภาพปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ทั้งระบบอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ให้มีการรับซื้อผลปาล์มน้ำมันดิบที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต่ำกว่าราคากิโลกรัมละ 4 บาท 50 สตางค์ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครับซื้อกระแสไฟฟ้าจากโรงสกัดน้ำมันปาล์ม โดย ข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อ เสนอต่อรัฐบาลไปแล้ว เกษตรกรมองว่า รัฐบาลสามาระทำได้ทันที ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ทางเกษตรกรจะรอฟังคำตอบจากรัฐบาล ว่าจะทำตามข้อเรียกร้องหรือไม่ หากไม่ได้ตามข้อเรียกร้องทางเกษตรกรก็จะจะเตรียมเดินทางไปชุมนุมที่ทำเนียบต่อไป
สำหรับราคาปาล์มที่ตกต่ำก็สืบเนื่องทั้งปริมาณในประเทศมีจำนวนมากส่งออกก็ไม่ได้ เพราะราคาตลาดโลกตกต่ำ รัฐบาลก็พยายาม หาหลายแนวทาง ในการแก้ไขปัญหา ทั้งเพิ่มการใช้ในน้ำมัน โดยเฉพาะบี 20 ด้วยการจูงใจรถบรรทุกและรถขนส่งมาใช้โดยกำหนดราคาต่ำกว่าบี 7 ที่ 3 บาทต่อลิตร แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมสักเท่าใด และหากทางเพิ่มปริมาณการใช้ในบี 7 สำหรับรถทั่วไป ที่ใช้ดีเซลได้เพิ่มขึ้น โดยวันนี้
กรมธุรกิจพลังงาน มีการแถลงข่าวด่วนวันนี้ แถลงเรื่องปรับเพิ่มการใช้บี 100 ในบี 7 โดย ปรับแบนด์บี 7 หรือส่วนผสมเพิ่มจากร้อยละ 6.5-7 ซึ่งผสมจริงเพียงร้อยละ 6.6 ก็เพิ่มเป็นผสมร้อยละ 6.8 ขอความร่วมมือผู้ค้าผสมทันที ซึ่งก็จะช่วยดูดซับปาล์มเพิ่มอีก 6.2 หมื่นตันต่อปีจาก 1.3 ล้านตันต่อปี และ จะขยับเป็นส่วยผสมในบี 7 เป็นร้อยละ 6.9 ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ก็จะเพิ่มการดูดซับได้รวมเป็น 8 หมื่นตัน/ปี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะเพิ่มสูตรผสมเป็นบี 10 หรือ การผสมในบี 7 ให้ได้ร้อยละ 7 เต็มที่ แต่จากการหารือกับค่ายรถยนต์แล้ว พบว่า ติดมาตรฐานยุโรป จึงทำให้ไม่สามารถเพิ่มส่วนผสมได้ตามที่ต้องการ
ในขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ ก็พยายามผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 300,000 ตัน ตามมติ คณะกรรมการนโยบายปาล์ม รวมทั้งมีแผนการนำไปผลิตสินค้าประเภทชีวภาพต่างๆ ตามแผนพัฒนาไบโอเคมิคอลทำเครื่องสำอาง เครื่องประทินโฉม แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้อยู่ในระหว่างการพัฒนา ในขณะที่ การนำปาล์มไปเผา ในโรงไฟฟ้ากระบี่นั้น ต้นทุนจะสูงมากกว่าการใช้เชื้อเพลิงปกติ และจะกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทุกคน ซึ่งทางกระทรวงพลังงาน จึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับเรื่องนี้.-สำนักข่าวไทย