นนทบุรี 24 ต.ค. – อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุน้ำปลาไทยถูกสหรัฐเรียกข้อมูลเพิ่ม เชื่อไม่น่าจะมีปัญหาตลาดสหรัฐแน่
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากข่าวน้ำปลาไทยยี่ห้อหนึ่งถูก USFDA ตรวจสอบการนำเข้าไปสหรัฐอเมริกา เพื่อขอข้อมูลเพิ่มด้านกระบวนการผลิต เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 จากกรณีดังกล่าวกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด โดยให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก เร่งตรวจสอบข้อมูล พบว่า USFDA ของสหรัฐสุ่มตรวจสินค้านำเข้าจากทั่วโลกมากกว่า 1,000 รายการตามปกติ ซึ่งเดือนพฤษภาคม 2561 มีน้ำปลาไทยเพียง 1 รายที่ถูกกักกันอยู่ในบัญชี Import alert #16-120 โดยทาง USFDA ขอข้อมูลเพิ่มด้านกระบวนการผลิตจากบริษัทดังกล่าว และทางบริษัทฯ ได้ส่งเอกสารชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จเร็ว ๆ นี้ โดยกฎระเบียบการนำเข้าของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันเป็นเรื่องปกติที่ผู้ผลิตจะต้องศึกษาข้อมูลก่อนดำเนินการส่งออก
ทั้งนี้ USFDA ได้ทำการสุ่มตรวจสินค้าเกษตร จากทั่วโลกตามปกติ รวมถึงสินค้าน้ำปลาจากประเทศไทย ณ ด่านนำเข้าสินค้า โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าน้ำปลาไทยถูกจัดอยู่ในบัญชี Import alert #16-120 เพียง 4 บริษัทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ส่งข้อมูลเพิ่มให้ทาง USFDA เสร็จสิ้นและสามารถนำเข้าสหรัฐได้ตามปกติ ซึ่งในกรณีล่าสุดที่เป็นประเด็นนั้น มีเพียงบริษัทเดียว ที่ถูกกักกัน แต่ไม่ได้ถูกห้ามนำเข้า โดยบริษัทได้ส่งข้อมูลชี้เเจงเพิ่มเติมให้ทาง USFDA ซึ่งประเด็นที่ต้องชี้แจงครั้งนี้ คือ กระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบ คาดว่าจะใช้เวลาชี้แจงข้อมูลเสร็จภายใน 3 เดือนหลังจากนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีน้ำปลาไทยที่เป็นที่นิยมในสหรัฐหลายยี่ห้อผ่านมาตรฐานของสหรัฐและวางจำหน่ายอีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการผลิตและส่งออกน้ำปลาไปทั่วโลก มูลค่าส่งออกต่อปีประมาณ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2560 ตลาดหลักยังคงเป็นสหรัฐมีมูลค่าการส่งออกระหว่างมกราคม – กันยายน 2561 มากถึง 8.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกมากถึงร้อยละ 20 ของการส่งออกจากทั่วโลก รองลงมา คือ เมียนมา 4.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 10) ญี่ปุ่น 3.89. ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 8.8) ออสเตรเลีย 2.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สปป.ลาว 2.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย