สธ.24 ต.ค.- อย.และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ยืนยันน้ำปลาไทยได้คุณภาพ แค่ถูกกักตรวจสอบเอกสาร ซึ่งผู้ผลิตได้ทำหนังสือชี้แจงภาพรวมกระบวนการผลิตที่ใช้การหมัก ตามเอกลักษณ์ภูมิปัญญาไทยให้สหรัฐแล้ว คาดรู้ผลภายในเดือนหน้า
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)พร้อมด้วย นายวิศิษฎ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวถึงกรณีที่ข่าวสหรัฐอเมริกาแบนน้ำปลาไทย ว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพียงแต่เป็นการสุ่มตรวจตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา และเพียงขอเรียกข้อมูลการผลิตจากบริษัท ทั้งนี้ยืนยันว่าจากการสุ่มตรวจน้ำปลาไทย รวม 48 ตัวอย่างไม่พบสารพิษโบทูลินัม และแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าในน้ำปลาอาจมีสารฮีสตามีน ก่อมะเร็งได้นั้น ยอมรับว่าในน้ำปลามีสารฮีสตามีนแต่มีน้อยมาก และในทางวิชาการยังไม่พบผู้บริโภคน้ำปลาและป่วยมะเร็งมาก่อน
นายวิศิษฎ์ กล่าวว่า เมื่อ ปี 2557 องค์การอาหารและยา หรือ FDA ของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดมาตรฐานน้ำปลานำเข้าประเทศว่าจะต้องผ่านกระบวนการต้มสุกทำให้ผู้ผลิตน้ำปลาไทยต้องมีการปรับตัว และต้องคำนึงถึงรสชาติกลิ่นให้เหมือนน้ำปลาดั้งเดิมที่เกิดจากกระบวนการหมัก โดยผู้ผลิตไทยได้มีการปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว และได้เคยทำหนังสือชี้แจงภาพรวมของกระบวนการผลิตน้ำปลากับสหรัฐว่า เป็นภูมิปัญญาไทย ใช้ในการถนอมอาหาร และใช้ในการชูรสชาด เป็นเอกลักษณ์ของไทยอีกทั้งบริษัทน้ำปลาที่ถูกกักตรวจสอบ ก็ได้ทำหนังสือชี้แจงไปแล้ว 2-3 เดือน หลังจากที่หนังสือแจ้งขอเอกสารกระบวนการผลิตมาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะทราบผลการตรวจสอบในเดือนหน้า
นายวิทยา มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าสำหรับตลาดและยอดการส่งออกน้ำปลาไทย. ถือว่าอยู่ในกลุ่มอันดับหนึ่งของการส่งออกระดับโลก โดยตลาดสหรัฐถือว่าเป็นตลาดน้ำปลาไทย ครองแชมป์ และมีสัดส่วนมากเป็นอันดับ 1รองลงมาฮ่องกง ซึ่ง เพียง 9 เดือนของการส่งออกน้ำปลา ไทยมียอดมูลค่าการส่งออกสูงถึง 44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขณะเดียวกันตลาดน้ำปลาที่ญี่ปุ่นก็กำลังค่อยๆเติบโต เช่นเดียวกับ พม่า ลาว และกัมพูชา .-สำนักข่าวไทย