กรุงบรัสเซลส์ 20 ต.ค.-นายกฯ พอใจผลการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 12 เผยหลายประเทศสนใจร่วมลงทุนใน EEC และได้ยืนยันกับทุกประเทศว่าไทยจะมีการเลือกตั้งปีหน้า ขอนักการเมืองร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศ วอนอย่าสร้างความขัดแย้ง จะทำให้ประเทศเสียโอกาส
“เพ็ญพรรณ แหลมหลวง” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย รายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM Summit) ครั้งที่ 12 และการประชุมผู้นำสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU – ASEAN Leaders’ Meeting) ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2561 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 12 ว่า ในการประชุมครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 วาระ 51 ประเทศสมาชิก ซึ่งได้มีการหารือกันหลากหลายประเด็น ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืน และการรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำ และการประชุมสหภาพยุโรป-อาเซียน โดยในการมาครั้งนี้ได้พบปะกับผู้นำหลายประเทศในเวทีการประชุม ซึ่งมีความคุ้นเคยกัน เพราะเคยเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป เป็นครั้งที่สาม และยังพบกันแบบทวิภาคี ทั้งได้หารือถึงความร่วมมือที่ไทยมีต่อมิตรประเทศเหล่านี้
“หลายประเทศทราบถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งถือเป็นการสร้างมิติใหม่ด้านการลงทุน รวมถึงหารือถึงปัญหาอุปสรรคที่ค้างคากับบางประเทศ และมีความคืบหน้าในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ โดยจะเร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จได้ภายในรัฐบาลหน้า ทั้งในส่วนของไทย อียู อาเซียน และกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งผลจากการหารือกับทั้ง 9 ประเทศ ต่างให้ความสนใจในโครงการอีอีซีของไทย ซึ่งบางประเทศได้ศึกษาความเป็นไปได้แล้ว ขณะที่บางประเทศ เช่น เอสโตเนีย จะศึกษาลู่ทางการลงทุนในไทยด้วยเช่นกัน ส่วนผู้นำเยอรมันก็ได้พบปะ และนัดหมายที่จะเดินทางไปเยือนในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะได้พูดคุยกันถึงประเด็นความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้ หลายประเทศมีความเชื่อมั่นในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลทั้งจากการคุ้นเคยและการรู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี รวมถึงการพยายามทำความเข้าใจและชี้แจงการดำเนินการทุกอย่างของรัฐบาล ซึ่งตนได้ย้ำว่าวันนี้ประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ที่สำคัญคือเน้นย้ำในเรื่องประชาธิปไตยกับทุกประเทศ เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่าไทยกำลังเดินหน้าการเมืองที่มีความถูกต้อง มีความเป็นสากล และป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก
“ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากนักการเมืองและฝ่ายต่าง ๆ ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อประเทศ ทุกคนต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อให้นานาชาติเชื่อมั่นในประเทศไทย ทั้งนี้ทุกประเทศต้องการที่จะมาลงทุนในไทย แต่มีคำถามว่าสิ่งที่เป็นอยู่จะมีความยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งได้ยืนยันไปว่าการทำงานตลอด 4 ปีของรัฐบาล เพื่อให้ทุกอย่างยั่งยืน เพราะขณะนี้ไทยมียุทธศาสตร์ชาติ มีแผนแม่บทของการพัฒนา พร้อมกลไกส่งเสริมการลงทุนที่เป็นธรรม และเหมาะสม บนพื้นฐานที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในที่ประชุมให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่อีอีซี โดยให้ความมั่นใจกับทุกประเทศว่าจะไม่ขาดแคลนแรงงาน เพราะได้วางแผนที่จะผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอีอีซี ที่เป็นการสร้างมูลค่าให้กับตลาดแรงงานไทยด้วย ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการสร้างมูลค่าให้กับประเทศ เพื่อนำรายได้กลับมาดูแลประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย นำมาพัฒนาการศึกษา และให้บริการด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุม
“เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในกรอบอาเซมกับภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน จะสร้างประโยชน์ในภาพรวมให้กับประชาชนของทุกประเทศ และผมอยากจะบอกว่า การมาในวันนี้ ผมได้รับเกียรติจากทุกประเทศ พร้อมทั้งได้รับความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย เหมือนกับที่ผมเคยกล่าวว่าใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาล ต้องทำให้ประเทศไทยมีศักดิ์ศรี มีที่ยืนบนเวทีโลกอย่างมีเกียรติ สมภาคภูมิของความเป็นไทย และความมีศักยภาพมากมายที่ต่างประเทศทราบในสิ่งเหล่านี้ดี เพียงแต่ไทยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ซึ่งผมได้ใช้ทุกเวทีในการยืนยันถึงความมุ่งมั่นและความมั่นใจที่ดี ซึ่งจะทำให้ทุกประเทศพร้อมที่จะร่วมมือกับไทย ขอเพียงภายในอย่าทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การเลือกตั้ง เพราะจะทำให้โอกาสของประเทศไทยหายไป” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในเวทีได้สอบถามถึงการช่วยเหลือเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 คน และได้ชื่นชมความสำเร็จในปฏิบัติการช่วยเหลือดังกล่าว ตนจึงถือโอกาสขอบคุณทุกประเทศที่ส่งความช่วยเหลือและส่งกำลังใจมา ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่เยาวชนทุกคนสนใจการศึกษา และมีแนวความคิดที่โตกว่าวัย มีความเข้มแข็งและเข้าใจเป็นอย่างดีในการปฏิบัติตัวว่าต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การช่วยเหลือ ถือเป็นตัวอย่างที่ดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ หลังเสร็จภารกิจ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ จะเดินทางออกจากที่ทำการคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปไปยังท่าอากาศยานกรุงบรัสเซลส์ เพื่อเดินทางจากกรุงบรัสเซลส์กลับประเทศไทย โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ แบบ Airbus A340-500 เที่ยวบินพิเศษกลับประเทศไทย โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 11 ชั่วโมง 30 นาที ถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ในเวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 20 ตุลาคม 2561.-สำนักข่าวไทย