กทม. 19 ต.ค. – นักวิจัยไทยต่อยอดกระบวนการศึกษาจากรางวัลโนเบล ในการค้นพบแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันรักษาโรคมะเร็ง สร้างความหวังให้กับผู้ป่วย
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาเรื่องแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็ง นำองค์ความรู้ระดับรางวัลโนเบลของ ศ.นพ.ทาสุกุ ฮอนโจ ซึ่งพบว่าสาเหตุที่เซลล์เม็ดเลือดขาวไม่เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง หรือส่งสัญญาณว่าพบเซลล์มะเร็งในร่างกาย เนื่องจากมีโปรตีนชนิดหนึ่งที่ในเซลล์มะเร็งและเม็ดเลือดขาวมีคล้ายกัน ทำให้เกิดสัญญาณหลอก การศึกษาวิจัยยานี้จะช่วยแยกโปรตีนที่เชื่อมระหว่างเม็ดเลือดขาวกับเซลล์มะเร็งออกจากกัน สร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย เสริมประสิทธิภาพของยา โดยให้ผลการรักษาดี ร้อยละ 20-30 ตอบสนองได้ดีในมะเร็ง 15 ชนิด
วิธีใช้ภูมิคุ้มกันรักษามะเร็งเริ่มแพร่หลายในต่างประเทศ แต่กระบวนการคิดค้นซับซ้อน ทำให้ยามีราคาสูงถึงหลอดละ 200,000 บาท และต้องฉีดยาต่อเนื่องนานนับปีิ ทุกๆ 3 สัปดาห์ จนกว่าเซลล์มะเร็งจะมีขนาดเล็กลง ค่าใช้จ่ายรวมปีละ 4 ล้านบาท แต่หากคนไทยผลิตได้เอง และมีการระดมทุนวิจัย ผลงานนี้จะเป็นของทุกคน ทำให้ราคาเหลือหลอดละ 20,000 บาท ทั้งปีใช้เงินเพียง 400,000 บาทเท่านั้น
กระบวนการศึกษาวิจัยเพิ่งผ่านในเฟส 1 กำลังก้าวสู่เฟสที่ 2 ปรับปรุงเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือแอนติบอดีในหนูทดลองให้คล้ายคลึงมนุษย์ และกว่าจะถึงขั้นทดลองในมนุษย์ต้องใช้เวลาอีก 4 ปี ต้องใช้ทุนอีกมาก ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาครัฐจึงสำคัญ หากไม่คิดค้นผลิตยาเอง อนาคตต้องพึ่งพาต่างชาติไปตลอด
แม้กระบวนการรักษามะเร็งที่ดีที่สุดยังคงเป็นการผ่าตัด แต่การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จุดประกายความหวังให้ผู้ป่วยที่เคยไร้หนทาง มีแรงใจก้าวต่อไปได้อีกครั้ง. – สำนักข่าวไทย