กรุงเทพฯ 19 ต.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่ง กยท.ตรวจสอบข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ กรณีเอกชนจีนขอเช่าพื้นที่สวนยางกว่า 2 หมื่นไร่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 30 ปี ย้ำดูแลไม่ให้เกษตรกรเสียประโยชน์ เร่งยกระดับราคายางพารา
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีบริษัท เซี่ยงไฮ้-ไทยรับเบอร์ฯ ยื่นหนังสือถึงกระทรวงเกษตรฯ ขอเช่าที่สวนยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กว่า 20,000 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี ตำบลกรุงหยัน อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมพื้นที่สวนยางอีก 4,400 ไร่ ซึ่งเป็นที่ของกรมป่าไม้ โดยจะฟื้นฟูป่า ซึ่งระบุในเอกสารว่าจะให้เป็นต้นแบบการพัฒนายั่งยืน ทั้งนี้ จะเช่าสถานที่และรับซื้อน้ำยางสูงกว่าราคาตลาดประมาณ 20-30 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับทำเวชสำอางค์และเวชภัณฑ์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหายางราคาตกต่ำและการขาดทุนในรอบ 6 เดือนของ กยท.กว่า 600 ล้านบาท จากการยุบรวม 3 หน่วยงาน ทำให้เพิ่มภาระเงินเดือนพนักงาน 3,900 คน รวมทั้งขอตั้งโรงผลิตไฟฟ้า ขนาด 10 เมกกะวัตต์ 3 โรง และโรงเลื่อย
นายกฤษฎา กล่าวว่า บริษัทจากจีนดังกล่าวนี้ระบุว่าการเช่าพื้นที่สวนยางของ กยท.จะทำให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ โดยได้ยื่นหนังสือให้ตนเมื่อเดือนกันยายนในงานนัดพบชาวสวนยางที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงส่งต่อให้นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าฯ กยท.ทันที เพื่อประมวลข้อมูลเสนอคณะกรรมการบริหาร กยท.ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติ
สำหรับการเช่าพื้นที่ได้ให้แนวทางแก่ผู้ว่าฯ กยท. ว่า ให้คำนึงประโยชน์ของเกษตรกร รวมทั้งให้ศึกษาข้อกฏหมายอย่างรอบคอบ ยังไม่ทราบว่าทำได้หรือไม่ เนื่องจากผู้ขอเช่าเป็นนิติบุคคลต่างด้าวและขอเช่าระยะยาว 30 ปี อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่เบื้องต้นหารือกับผู้ว่าฯ กยท. คาดว่าไม่สามารถให้เช่าได้ จึงสั่งการให้ทำรายงานเสนอคณะกรรมการบริหาร กยท.รับทราบ แต่ในฐานะที่กำกับดูแล กยท.จะรับผิดชอบไม่ให้มีอะไรเสียหาย ดังนั้น เกษตรกรไม่ต้องกังวล นอกจากนี้ ได้ย้ำให้ผู้ว่าฯ กยท. เร่งยกระดับราคายาง ซึ่งเป็นความสำคัญเร่งด่วน เนื่องจากเกษตรกรยังเดือดร้อนจากราคายางที่ตกต่ำ
“ตั้งแต่มาอยู่กระทรวงเกษตรฯ 9 เดือนเพิ่งมีเอกชนรายนี้ส่งหนังสือ ส่วนที่นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางแห่งประเทศไทยระบุว่าเจ้าของบริษัทเคยพบนั้น ยืนยันว่าเจ้าของนำหนังสือมายื่นในที่เปิดเผย ไม่ได้ปกปิดอะไร ซึ่งวันที่บริษัทยื่นหนังสือยังได้นำเสนอรายละเอียดเรื่องนี้ในที่ประชุมสัมมนา ซึ่งมีนักวิชาการ นักธรุกิจจำนวนมากรับทราบ ได้ซักถามเกี่ยวกับการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า ทางผู้แทนบริษัทที่มาพบซึ่งเป็นคนไทยก็ไม่สามารถตอบได้ ยังไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเกิดข่าวนี้ขึ้นมาในช่วงนี้ ถูกเล่นงานเหมือนกรณีขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว แต่ไม่เป็นไร ช่วงนี้กระทรวงเกษตรฯ ถูกโจมตีหลายเรื่อง” นายกฤษฏา กล่าว
ด้านนายอุทัย กล่าวว่า ยังไม่เข้าใจว่าการให้เช่าสวนยาง 20,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศประมาณ 24 ล้านไร่นั้น จะช่วยแก้ปัญหาราคายางได้อย่างไร หาก กยท.ให้เช่าพื้นที่ เมื่อบริษัทต่างชาติเข้าใช้สิทธิ์ครอบครองตามสัญญา แล้วให้คนอี่นเช่าช่วงไปเพื่อหวังกำไร ส่วนนี้จำเป็นต้องร่างสัญญาป้องกันไว้ก่อน รวมทั้งป้องกันการโค่นต้นยางขาย ก่อนทำสัญญาควรให้ผู้เช่าร่างแผนแก้ปัญหาให้ช้ดเจน แล้วควรเชิญหลายฝ่าย รวมทั้งนักวิชาการมาร่วมกันพิจารณาให้รอบคอบ ทั้งนี้ บริษัท เซี่ยงไฮ้-ไทยรับเบอร์ฯ มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท เคยทำโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 500,000 ล้านบาท แต่หยุดดำเนินการเกือบ 2 ปี จึงเกรงจะเกิดปัญหาประวัติซ้ำรอย ดังกรณีเอกชนทำสัญญาซื้อยาง แต่เมื่อราคาตกต่ำเอกชนก็ละทิ้ง ซึ่ง กยท.ไม่เคยฟ้องร้อง โดยอ้างเกรงกระทบสัมพันธไมตรี
ขณะที่นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าฯ กยท. กล่าวว่า เรื่องที่บริษัทจะมาเช่าใช้พื้นที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ ยังต้องพิจารณาทั้งข้อกฎหมายและด้านอื่น ๆ ประกอบอีกมาก โดยที่ดินซึ่งบริษัทจากจีนขอเช่าเป็นคนละแปลงกันกับที่ดิน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะขอคืนวันที่ 18 ตุลาคม 2561นี้ ล่าสุดรักษาการผู้ว่าฯ กยท.ได้ทำหนังสือขอขยายเวลาออกไปก่อนแล้ว เรื่องเอกสารคาดว่า จะส่งได้ตามกำหนดที่ขอขยายเวลา.-สำนักข่าวไทย