กรุงเทพฯ 12 ต.ค. – ก.เกษตรฯ เตรียมหารือกฤษฎีกา ยกเว้นการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงและแยกประเภทเป็นเลี้ยงในครอบครัว เลี้ยงเพาะพันธุ์เพื่อการค้า และเลี้ยงเพื่ออุปการะสัตว์จรจัด
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จะนำร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่…) พ.ศ….หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อปรับปรุงรายละเอียดทั้งหมดตามที่ ครม.มีมติให้กระทรวงเกษตรฯ นำกลับมาทบทวน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยว่าค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนและค่าปรับกรณีไม่นำสัตว์มาขึ้นทะเบียนอาจเป็นภาระของประชาชนเกินควร
ทั้งนี้ นายกฤษฎา ได้ขออภัยประชาชนที่ไม่ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนก่อน จนกระทั่งเกิดความสับสนและตระหนกตกใจเกี่ยวกับค่าขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตัวละ 450 บาท แบ่งเป็นค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียน 50 บาท สมุดประจำตัวสัตว์ฉบับละ 100 บาท และเครื่องหมายประจำตัวสัตว์แบบอิเล็กทรอนิกส์ (Microchip) ส่วนที่มีราคาสูง คือ Microchip ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงตัวนั้น ๆ ในแผงวงจรขนาดเล็กแล้วฝังในผิวหนังสัตว์ กรณีสัตว์เลี้ยงหายสามารถติดตามส่งคืนเจ้าของได้ง่าย แต่ได้ให้กรมปศุสัตว์ตรวจสอบราคาที่แน่นอนอีกครั้ง
นายกฤษฎา กล่าวว่า จะทบทวนร่วมกับกฤษฎีกาว่าร่าง พ.ร.บ.จะสามารถยกเว้นค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนสัตว์ครั้งแรกได้หรือไม่ อีกทั้งตามร่างที่เสนอไปนั้นกำหนดไว้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียนสัตว์สามารถพิจารณาจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 450 บาท หรือจะยกเว้นการจัดเก็บก็ได้อีกเช่นกัน ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละท้องถิ่น
สำหรับแนวทางที่จะทบทวนกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ จะแบ่งประเภทเป็นการเลี้ยงสัตว์ในครอบครัว การเลี้ยงเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่าย และการเลี้ยงเพื่ออุปการะสัตว์จรจัด ซึ่งจะมีรายละเอียดการขึ้นทะเบียนต่างกัน โดยเฉพาะการเลี้ยงเพื่ออุปการะสัตว์จรจัด ซึ่งเป็นการสงเคราะห์สัตว์ที่ถูกทอดทิ้งจะไม่จัดเก็บค่าธรรมเนียม
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อ ครม.นั้น กรมปศุสัตว์ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญแล้ว แต่มีผู้สนใจแสดงความคิดเห็นน้อย จึงได้สั่งให้เปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งและจะรวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมดนำมาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. เพื่อให้มีความเหมาะสมและประชาชนไม่เดือดร้อน จากการที่มีผู้แสดงความคิดเห็นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่จะมีผลดีให้ผู้ที่คิดจะเลี้ยงสัตว์นั้นเลี้ยงด้วยความรับผิดชอบ ไม่ใช่เห็นว่าน่ารักตอนยังเล็กพอโตขึ้นก็นำมาปล่อยทิ้ง หรือเลี้ยงจำนวนมากเกินความสามารถที่จะดูแลไม่ให้เป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น ซึ่งต้องยอมรับว่าสัตว์จรจัดโดยเฉพาะสุนัขและแมวที่มีเป็นจำนวนมากทำให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน รวมทั้งสัตว์ก็เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ถูกทำร้าย นอกจากนี้ ยังไม่ได้รับการจัดสวัสดิการทั้งฉีดวัคซีน ทำหมัน ทำให้แพร่พันธุ์จำนวนมาก รวมถึงเป็นพาหะโรคระบาดสัตว์โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นปัญหารุนแรง และจะมีการพิจารณาถึงกรณีที่มีผู้นำอาหารมาเลี้ยงสัตว์จรจัดตามท้องถนนว่าจะดำเนินการให้เป็นระเบียบได้อย่างไร
ทั้งนี้ เมื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. แล้วจะนำเสนอ ครม.เห็นชอบอีกครั้งก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะต้องมีการพิจารณา 3 วาระ โดยวาระที่ 2 จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณา ซึ่งนายกฤษฎา จะเชิญทั้งผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง สมาคมผู้เพาะพันธุ์สัตว์ รวมถึงสมาคมผู้สงเคราะห์สัตว์จรจัดมาร่วมให้ความคิดเห็นเพื่อให้รายละเอียดในข้อกฎหมายเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ปฏิบัติได้จริง และไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียน เจตนารมย์ของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อคนและสัตว์ โดยเฉพาะการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า กรมปศุสัตว์ร่วมกับ อปท.สำรวจจำนวนสุนัขและแมวทั่วประเทศมีประมาณ 10 ล้านตัว โดยมีสุนัขทั้งหมด 7,380,810 ตัว เป็นสุนัขมีเจ้าของ 6,622,364 ตัวและเป็นสุนัขไม่มีเจ้าของ 758,446 ตัว ส่วนจำนวนแมวทั้งหมด 3,035,645 ตัว เป็นแมวมีเจ้าของ 2,541,009 ตัว แมวไม่มีเจ้าของ 474,142 ตัว ทั้งนี้ ปี 2561 มีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมวทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้า 8,240,000 ตัว เพื่อสร้างภูมิคุมกันระดับฝูงให้ได้ไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนสุนัขและแนวทั้งประเทศ ตามข้อกำหนดการควบคุมโรคระบาดสัตวิ์ ซึ่งภารกิจการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ากรมปศุสัตว์ฉีดวัคซีนควบคุมโรคในจุดเกิดโรค ดำเนินการแล้ว 1,208,817 ตัว ส่วน อปท.ดำเนินการแล้ว 6,685,662 ตัว สำหรับยอดผ่าตัดทำหมันปี 2561 จากเป้าหมาย 300,000 ตัว กรมปศุสัตว์ดำเนินการได้ 288,197 ตัว และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ต้องการให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ดังกล่าว ขอให้แสดงความคิดเห็นที่แอพพลิเคชัน DLD 4.0 ที่ดาวน์โหลดและติดตั้งได้ในโทรศัพท์ทุกระบบ หรือทางอีเมล์ info@dld.go.th หรือทางเฟซบุ๊คปศุสัตว์ก้าวหน้า (www.facebook.com/livestocknews).-สำนักข่าวไทย