กทม. 8 ต.ค.-จากข่าวเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี นำกำลังเข้าจับกุมคณะออฟโรด พร้อมซากหมีขอ หลายคนบอกไม่เคยได้ยินชื่อหมีพันธุ์นี้เลย ชื่อนำหน้าว่าหมี ต้องตัวใหญ่แน่นอน แต่ความจริงแล้ว หมีขอ เป็นสัตว์จำพวกชะมดและอีเห็น มีความโดดเด่นที่หางยาว ใช้เกาะเกี่ยวต้นไม้ได้ดี
คำว่า “หมีขอ” มาจากรูปร่างลักษณะคล้ายกับหมี พฤติกรรมอยากรู้ อยากเห็น จะยื่นตีนหน้าไปเหมือนแบมือขอของ
เว็บไซต์ วิกิพีเดีย ให้ข้อมูลหมีขอ ว่า หมีขอ หรือ บินตุรง หรือ หมีกระรอก เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม แม้จะมีหน้าตาคล้ายหมีจนได้ชื่อว่าหมี แต่เป็นสัตว์จำพวกชะมดและอีเห็น (Viverridae) ที่ใหญ่ที่สุด จัดเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวในสกุล Arctictis มีหางยาวเป็นพวงคล้ายกระรอก ขนตามลำตัวค่อนข้างยาวสีดำและหยาบ สีขนบริเวณหัวอาจมีสีเทา หูกลม บริเวณขอบหูมีสีขาว หางที่ยาวสามารถใช้เกาะเกี่ยวต้นไม้ได้เป็นอย่างดี มีความยาวลำตัวและหัว 61-96.5 เซนติเมตร ความยาวหาง 50-84 เซนติเมตร น้ำหนัก 9-20 กิโลกรัม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คุมแก๊งออฟโรดในเขตอุทยานไทรโยคสอบ หลังพบ “ซากหมีขอ” ► https://tna.mcot.net/view/5bba03e9e3f8e40ad666a14a
ให้ปลัดด่านมะขามเตี้ยออกจากราชการไว้ก่อน ► https://tna.mcot.net/view/5bbae5f8e3f8e40ad666a457
เร่งพิสูจน์คดีออฟโรดล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยาน ► https://tna.mcot.net/view/5bbadc5be3f8e40acc66a234
หมีขอ กระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่ภูฏาน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ภาคตะวันตกของเมียนมา, ไทย, ลาว, กัมพูชา, พรมแดนระหว่างเวียดนามติดกับลาวและกัมพูชา, มาเลเซีย, เกาะสุมาตรา, เกาะบอร์เนียวในอินโดนีเซีย และเกาะปาลาวันในฟิลิปปินส์
หมีขอเป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืน อาศัยและหากินตามลำพัง แต่ในบางครั้งอาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ประกอบไปด้วย แม่และลูก ในเวลากลางวันจะอาศัยโพรงไม้เป็นที่หลับนอน อาหารได้แก่ ผลไม้และสัตว์ที่มีขนาดเล็กชนิดต่างๆ บนต้นไม้ ทั้งแมลงและสัตว์เลื้อยคลาน ปีนต้นไม้เก่งมาก โดยใช้หางที่ยาวเกาะเกี่ยวกิ่งไม้จากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถว่ายน้ำได้อีกด้วย มีการผสมพันธุ์กันได้ตลอดทั้งปี ใช้เวลาตั้งท้องนาน 92 วัน ออกลูกครั้งละ 1-3 ตัว หมีขอตัวเมียจะมีเต้านมทั้งหมด 2 คู่ ลูกที่เกิดใหม่ยังไม่สามารถใช้ขาและหางเกี่ยวกิ่งไม้ได้ชำนาญเหมือนตัวพ่อแม่
หมีขอเป็นสัตว์ที่เลี้ยงตั้งแต่เล็กแล้วจะเชื่อง จนสามารถนำมาฝึกให้แสดงโชว์ต่างๆ ได้ตามสวนสัตว์ สถานะปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
คำว่า “หมีขอ” มาจากการที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับหมี ประกอบกับมีพฤติกรรมเมื่อพบปะมนุษย์ แม้จะเป็นหมีขอที่เป็นสัตว์ป่าแท้ๆ แต่กลับมีพฤติกรรมอยากรู้ อยากเห็น และจะยื่นตีนหน้าไปเหมือนแบมือขอของ คล้ายสุนัขที่ฝึกมาแล้ว เมื่อมีใครยื่นอะไรสักอย่างให้ เช่น เศษผ้า ก็จะคว้าแล้ววิ่งหายไปในพงไม้ และชื่อ “หมีกระรอก” นั้นก็มาจากขนหางที่เป็นพวงฟูเหมือนกระรอก
รู้หรือไม่?
• หมีขอเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย และเป็นที่นิยมเลี้ยงกันในสหรัฐ
• หมีขอมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศในฐานะเป็นผู้กระจายเมล็ดพืช และเป็นผู้ควบคุมประชากรสัตว์ฟันแทะด้วย
• บางคนกล่าวว่า กลิ่นของหมีขอคล้ายกลิ่นข้าวโพดคั่วอบเนย
• ภาษาอังกฤษ บางทีเรียกหมีขอว่า cat bear ส่วน คำว่า bearcat ไม่ได้หมายถึงหมีขอ แต่หมายถึงแพนดาแดง
ข้อมูลจาก http://www.verdantplanet.org และ th.wikipedia.org