กรุงเทพฯ 4 ต.ค.-กรณีคนอาศัยในคอนโดฯ หรูร้องเรียนเรื่องการตีระฆังของวัด กลายเป็นเรื่องร้อนในสื่อสังคมออนไลน์ โดยดารานักแสดงอย่างน้อย 2 คนที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ ยืนยันว่าไม่เคยถูกรบกวนจากเสียงระฆัง ขณะที่พระนักคิดนักโพสต์เฟซบุ๊ก มองว่าวัดและคนควรอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ วัดสร้อยทอง โพสต์เฟซบุ๊ก “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” ถึงกรณีมีประชาชนร้องเรียนเขตบางคอแหลมว่า วัดไทรย่านพระราม 3 ตีระฆังส่งเสียงดังรบกวน โดยระบุว่า ยุคสมัยเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน อะไรหลายอย่างก็เปลี่ยนไปด้วย คุณค่าทางวัฒนธรรมบางเรื่องก็ไปด้วยกันไม่ได้ อย่างเรื่องการตีระฆัง ถ้าเป็นในชนบทจะไม่มีปัญหา ชาวบ้านไม่เดือดร้อน เพราะคนโบราณสมัยก่อนตีห้าก็ลุกขึ้นมาหุงข้าวแล้ว พระตีระฆังถือเป็นการปลุกไปในตัว แต่ในสังคมเมือง คนกับพระห่างกันมาก วัดกับตึกห่างกันมาก เลยไม่มีสำนึกในเรื่องของการถ้อยทีถ้อยอาศัย แม้น่าเห็นใจเพราะบางคนทำงานมา อยากจะนอนให้เต็มที่ แต่ควรอนุเคราะห์กันและหาทางออกร่วมกัน โดยตอนโรงเรียนกับคอนโดฯ ทหารย้ายมาใหม่ พระเณรที่วัดสร้อยทองก็ต้องใช้ขันติคุณ เพราะมีทั้งฝุ่นและเสียงตลอดเวลา
พร้อมกันนี้พระมหาไพรวัลย์ แนะนำว่า สร้างคอนโดฯ ราคาหลายพันล้าน น่าจะมีห้องที่มีระบบป้องกันเสียงรบกวนได้ เพราะถือเป็นการรักษาสิทธิ์ของผู้อยู่อาศัย และเคารพในวัฒนธรรมประเพณีของวัดด้วย
ส่วนดารานักแสดงอย่างน้อย 2 คน คือ “เพชร” กรุณพล เทียนสุวรรณ และ “ทับทิม” มัลลิกา จงวัฒนา ได้โพสต์อินสตาแกรมระบุว่า อาศัยอยู่ในคอนโดฯ ดังกล่าวจริง แต่ไม่มีใครถูกรบกวนจากกรณีพระตีระฆัง และเบื้องต้นพบว่ามีเพียงคนเดียวที่โทรไปวัดทุกคืน และร้องไปที่สำนักงานเขตฯ พร้อมระบุว่า เวลามีงานทำบุญคอนโดฯ ก็มีการนิมนต์พระจากวัดไทรไปรับนิมนต์ตามปกติ และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในคอนโดฯ ไม่ได้รับผลกระทบ
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวถึงกรณีสำนักเขตบางคอแหลมส่งหนังสือให้วัดไทรลดเสียงตีระฆัง เพื่อลดผลกระทบผู้อยู่อาศัยคอนโดมิเนียมว่า กรณีนี้อาจเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 260 ดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนา ซึ่งมีความผิดทั้งจำและปรับ จำคุก 1-7 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000-14,000 บาทเป็นโทษที่สูง เนื่องจากวัดไทรเป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 300 ปีแต่คอนโดมิเนียมเพิ่งสร้างไม่ถึง 10 ปี
ทั้งนี้ ปัญหาเกิดจากการที่ กทม.และกระทรวงมหาดไทย ไม่มีข้อบัญญัติการควบคุมการสร้างอาคารสูง ที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือกำหนดระยะห่างของอาคารสูงกับศาสนสถานที่ไม่ควรน้อยกว่า 1 กิโลเมตร หรือกำหนดให้ตึกที่จะก่อสร้างใกล้ศาสนสถานใช้วัสดุป้องกันเสียงดังรบกวน ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างไร หรือจะมีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคารหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอีกในอนาคต.-สำนักข่าวไทย