กรุงเทพฯ 3 ต.ค. – รัฐมนตรีพาณิชย์ดึงผู้ผลิตสินค้าร่วมจัดทำสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพราคาถูกกว่าท้องตลาดร้อยละ 30 ป้อนร้านธงฟ้าให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการ คาดเดือน พ.ย.เปิดตัว พร้อมเรียกร้องทุกคนต้องปรับตัวทันโลกเทคโนโลยี
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณชิย์ เปิดเผยว่า ได้คุยกับทางกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ 2-3 ราย เพื่อเชิญชวนให้มาผลิตสินค้าราคาพิเศษต่ำกว่าราคาปกติอย่างน้อยร้อยละ 30 โดยเน้นกลุ่มสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ เช่น น้ำมันพืช ผงซักฟอก สบู่และอื่น ๆ อีกประมาณเกือบ 10 รายการสินค้า เพื่อนำไปกระจายในโครงการร้านธงฟ้าที่อยู่ร่วมโครงการสวัสดิการของรัฐ 40,000 ร้านค้าทั่วประเทศ คาดว่าจะเปิดตัวและกระจายสินค้าเหล่านี้ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ หรืออย่างช้าภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยผู้ผลิตสินค้าตอบรับที่จะร่วมจัดทำโครงการนี้แล้ว แต่ขอเวลาเตรียมตัวผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของเอกชนเป็นหลัก โดยกระทรวงพาณิชย์จะดูแลทางด้านคุณภาพสินค้าเป็นหลัก
สำหรับโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ ปัจจุบันมีร้านค้าโดยเฉพาะโชห่วยไทยเข้าร่วมกว่า 40,000 แห่ง และภาครัฐยังเปิดโอกาสให้ร้านค้าต่าง ๆ สามารถเข้าร่วมโดยผ่านแอพถุงเงินประชารัฐอีกนับ 10,000 รายที่จะให้บริการผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน และอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนอีกกว่า 4 ล้านคน ทำให้อนาคตกลุ่มที่มีรายได้ไม่ถึง 100,000 บาทจะอยู่ในระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีมากถึง 15 ล้านคนที่จะได้รับและใช้สิทธิ์ตามโครงการของรัฐบาลผ่านบัตรสวสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะมีเงินหมุนเวียนในระบบต่อเดือนมากกว่า 4,000 ล้านบาท
นายสนธิรัตน์ ได้ไปเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “Deep Tech เปลี่ยนโลก เปลี่ยนชีวิต” ในหัวข้อ “Big Data ประชารัฐพลิกชีวิตประชาชน” ที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ ว่า โลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนจากอดีตค่อนข้างมากและรวดเร็วขึ้นรัฐบาลยังมีแนวทางส่งเสริมเปลี่ยนแปลง โดยได้ปรับแนวทางส่งเสริมประเทศด้วยการผ่าน Big Data เพราะจากโลกการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปเข้าสู่การค้าแบบดิจิทัล ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ในฐานะเป็นผู้ดูแลด้านเศรษฐกิจ มุ่งหวังให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในยุคดิจิทัลให้เข้มแข็งระยะยาว โดยใช้ประโยชน์จากการใช้ Big Data ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยนำข้อมูล Big Data มาประมวล เพื่อสร้างอาชีพที่เหมาะสมให้กับประชาชนเป็นรายพื้นที่ อีกทั้งกระทรวงยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับภาคประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจไปจนถึงการค้าระหว่างประเทศตามศักยภาพรายบุคคล โดยกระทรวงได้บูรณาการข้อมูลและหลักสูตรการฝึกอบรมของทุกหน่วยงานในกระทรวง เพื่อลดความซ้ำซ้อนของหลักสูตร ก่อให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เห็นได้ชัดเจนหลังจากกลุ่มอาลีบาบาสนใจสินค้าเกษตรของไทย เช่น ทุเรียน ให้ซื้อขายบนเว็บไซต์ส่งผลให้ความต้องการและราคาทุเรียนไทยสูงขึ้น และสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรไทย หากจะขายสินค้าได้ราคาดีจะต้องดูแลขั้นตอนตั้งแต่เพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว และเชื่อว่าสูตรดังกล่าวจะถูกขยายไปยังสินค้าเกษตรตัวอื่น ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งการค้าของโลกอินเทอร์เน็ตจะเข้ามาแทนที่ ต่อไปจะเกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรไทยและกลุ่มที่เอารัดเอาเปรียบกดราคารับซื้อสินค้าเกษตรจะหายไป เพราะเกษตรกรจะเข้าถึงข้อมูลและเรียนรู้ตามโลกเทคโนโลยีได้ทันมากขึ้น. – สำนักข่าวไทย