สธ.3 ต.ค.-ปลัด สธ.แจงปัญหา รพ.แออัด เกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ป่วย ชอบไป รพ.ใหญ่ แนวแก้ปัญหา เน้นสร้างความเข้าใจประชาชนให้ป้องกันโรคและสร้างทีมหมอครอบครัวให้บริการเชิงรุกมากขึ้น แต่ขอบคุณคนที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ ซึ่งพร้อมชี้แจงและแก้ปัญหา
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม และนพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รักษาราชการแทนตำแหน่งรองปลัด สธ.แถลงยอมรับว่าปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นเรื่องจริง ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหา ในการจัด บริการสุขภาพเพื่อประชาชน กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ทำอยู่ฝ่ายเดียว แต่ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลเอกชน ร่วมกันดูแลสุขภาพประชาชน
ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาความแออัด สธ.ได้เร่งพัฒนานวัตกรรมใหม่มาใช้ โดย 1.โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เน้นการรักษาโรคที่ซับซ้อน พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่ายเป็นด่านหน้าในการดูแลรักษาผู้ป่วย พัฒนาระบบการส่งกลับและการดูแลผู้ป่วยพ้นระยะวิกฤต (Inter Mediate Care) ของโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลางและขนาดเล็กและพัฒนาการรักษาเฉพาะทางตามแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) และบริบทพื้นที่ และช่วยกันพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก โดยเฉพาะรอบเมือง
2.โรงพยาบาลชุมชนขนาดกลางและขนาดเล็กใช้นวัตกรรมลดความแออัด อาทิ รพ.กาญจนดิษฐ์โมเดล ซึ่งยกระดับโรงพยาบาลนครชัยศรีโมเดลของเขตสุขภาพที่ 5และโรงพยาบาล3พี่น้องของเขตสุขภาพที่ 10 ที่ใช้การควบรวมโรงพยาบาลเพื่อบริหารจัดการร่วมกัน และ3.ในระดับปฐมภูมิได้มีนวัตกรรมคลินิกหมอครอบครัว(PCC) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลติดดาว อสม.4.0 และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)ที่ทุกภาคส่วนร่วมกันดูแลสุขภาพประชาชน เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ
สำหรับทิศทางใหม่ของการพัฒนาระบบสุขภาพ จะเน้นการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ เชื่อมโยงบริการจากครัวเรือนจนถึงระดับศูนย์เชี่ยวชาญ นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อินเทอร์เน็ตมาใช้ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้าน มีหมอประจำตัว มีประวัติการรักษาต่อเนื่อง หากมีปัญหาสุขภาพที่จำเป็นต้องส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาล ที่มีศักยภาพสูงขึ้นแบบไร้รอยต่อและส่งกลับมาดูแลต่อเนื่องในโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านเมื่อพ้นภาวะวิกฤต มีระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ซึ่งทั้งหมดนี้ จะสามารถช่วยลดความแออัดการรับบริการในโรงพยาบาลได้
“ผลงานนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งเรื่องงบประมาณการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้นค่าใช้จ่ายรายหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยที่ต้องนอนในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น แต่จำเป็นต้องสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ทั้งสุรา บุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ” นพ.สุขุมกล่าว
นพ.สุขุม กล่าวด้วยว่า ในเรื่องบุคลากรเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญทั้งบุคลากรฝ่ายสุขภาพและฝ่ายสนับสนุนที่ร่วมทำงานเป็นทีมให้การดูแลสุขภาพประชาชน เป็นนโยบายสำคัญของ รมว.สาธารณสุข ที่จะบริหารจัดการบุคลากรให้เป็นระบบ ทั้งการรับบุคลากรเข้าทำงานตามกรอบอัตรากำลัง กำหนดเวลาทำงานและภาระงานให้เหมาะสม การดูแลขวัญกำลังใจเพื่อรักษาบุคลากรไว้ในระบบ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรและมีการประเมินผลงาน เพื่อให้ทำงานอย่างมีความสุข สำหรับบุคลากรที่จ้างด้วยระบบจ้างงานอื่น ได้พยายามสร้างความมั่นคงเพิ่มขึ้น บรรจุเมื่อมีตำแหน่งว่าง และประสาน กพ. อย่างใกล้ชิด เพื่อขออัตราข้าราชการตามแผนกำลังคนด้านสุขภาพ.-สำนักข่าวไทย