กทม. 1 ต.ค.-วันนี้ โรงพยาบาลสังกัด ก.สาธารณสุขทั่วประเทศ เลิกใช้ถุงพลาสติกใส่ยาให้กับผู้ป่วย รณรงค์ใช้ถุงผ้าใส่ยา หวังลดเลิกพฤติกรรมทำลายสิ่งแวดล้อมและเพิ่มขยะจากพลาสติก
จุดรับยา ห้องจ่ายยา สถาบันโรคทรวงอก วันนี้ดูแปลกตา เภสัชกรนอกจะจัดเรียงยาใส่ตะกร้าตามคิว ไม่ใส่ในถุงพลาสติกเหมือนเคย เมื่อถึงคิว เรียกผู้ป่วยรับยา อธิบายตัวยา วิธีรับประทาน จากนั้นส่งยาให้ผู้ป่วยที่นำถุงผ้ามาใส่ยา วิธีการนี้จะช่วยลดการใช้พลาสติกและปริมาณขยะ ซึ่งประชาชนที่มารับบริการต่างขานรับแนวคิด และยินดีปฏิบัติ เพราะเชื่อว่าการใช้ถุงผ้าไม่ใช่อุปสรรคในการรับยา
เมื่อไม่มีถุงใส่ยา การจัดยาใส่ตะกร้า โดยเฉพาะผู้ป่วยซึ่งบางคนต้องใช้ยามากกว่า 10 ชนิด การป้องกันไม่ให้ยาปะปน การตรวจสอบต้องรอบคอบ โดยอาศัยเภสัชกรตรวจสอบรวม 3 จุด ทั้งจัดยา ติดฉลากในซองใส แยกประเภทยา จากนั้นตรวจทานยา และจ่ายยาให้ถึงมือผู้ป่วย
แนวคิดการปรับเปลี่ยนลดใช้ถุงพลาสติก เป็นอีก 1 จุดประกายให้สังคมตระหนักเพราะแม้แต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ อย่างสถาบันโรคทรวงอก เริ่มทยอยปรับเปลี่ยนมา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงกันยายน ค่อยๆ ทยอยลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากถึง 56,000 ใบ ประหยัดเงินได้มากรวม 50,000 บาท และหากทำได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะสามารถประหยัดงบประมาณที่ค่าถุงพลาสติกหูหิ้ว ได้มากถึง 100 ล้านบาท
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรววงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าแต่ละปีประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง ร้อยละ 12 หรือคิดเป็น 2 ล้านตันของปริมาณขยะทั้งหมด โดยปริมาณการถุงพลาสติกหูหิ้วเฉลี่ยมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี แบ่งเป็นการใช้ในตลาดสด 18,000 ล้านใบ/ร้านขายของชำ 13,500 ล้านใบ และร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า 13,500 ล้านใบ หากลดได้คงดีไม่น้อย.-สำนักข่าวไทย