กรุงเทพฯ 1 ต.ค. – “อุตตม” ไฟเขียว 4 โครงการลงทุนหลักอีอีซี มูลค่า 6.5 แสนล้านบาท เสนอบอร์ดอีอีซีชุดใหญ่ 4 ต.ค.นี้ ด้านกระทรวงดีอีเสนอแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 5 ปี รองรับอีอีซี พร้อมของบเพิ่ม 800 ล้านบาทใน 5 ปี เชื่อทำให้ไทยไฮเทคกว่าสิงคโปร์
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 2/2561 ว่า ที่ประชุม กบอ.วันนี้ (1 ต.ค.) เห็นชอบกรอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ EEC Project List อีก 4 โครงการที่เหลือจาก 5 โครงการลงทุนหลักในอีอีซี มูลค่ารวมประมาณ 650,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะลงทุนประมาณร้อยละ 30 โดย กบอ.จะนำเสนอโครงการเหล่านี้ ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือคณะกรรมการอีอีซีชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล จากที่ก่อนหน้านี้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการลงทุนหลักโครงการแรกที่ได้ออกเอกสารคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 และกำหนดรับข้อเสนอเอกชนวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้
สำหรับ 4 โครงการหลักที่จะลงทุนในพื้นที่อีอีซีที่เหลือ ได้แก่ โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก:สนามบินอู่ตะเภา, โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา, โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 นอกจากนี้ ที่ประชุม กบอ.ยังรับทราบแผนพัฒนาโครงการแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระยะเวลา 5 ปี ตามข้อเสนอของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอีอีซีให้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค โครงการนี้ของบประมาณเพิ่ม 800 ล้านบาทในช่วง 5 ปีของการดำเนินการ
นายอุตตม กล่าวว่า แม้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่แต่เชื่อว่าโครงการเหล่านี้จะเดินหน้าไป เพราะที่ผ่านมาโครงการในอีอีซีได้รับการตอบรับที่ดีสามารถแสดงได้ว่าเป็นประโยชน์กับประเทศกับคนไทยไม่เพียงพื้นที่อีอีซีเท่านั้น และอีอีซีจะเป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่แก่ประเทศไทยและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศในการพัฒนาไปข้างหน้าและมีกฎหมายรองรับ จึงเชื่อว่าจะดำเนินต่อไปได้และโดยกฎหมายรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศก็จะได้รับการสานต่อ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะรองประธานกรรมการ กบอ. กล่าวว่า โครงการทั้งหมดจะได้รายชื่อผู้ชนะการประมูลโครงการและลงนามในสัญญาโครงการทั้งหมดทันภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลปัจจุบัน และในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอีอีซีให้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคตามที่กระทรวงดีอีเสนอจะเป็นโครงการที่ทำให้ไทยมีความล้ำสมัยมากกว่าประเทศสิงคโปร์
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า กิจกรรม 4 โครงการที่เห็นชอบวันนี้ ได้แก่ โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก: สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งกองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการมีกำหนดออกหนังสือชี้ชวน ตุลาคม 2561 กำหนดได้เอกชนผู้ร่วมทุนเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และจะเปิดดำเนินการ 2566 โครงการนี้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากทางวิ่งที่ 2 และทางขับ (Runway 2 & Taxiway) ที่รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนแล้ว มีกิจกรรมรวม 6 ประเภท ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (หลังที่ 3) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) และการขนส่งภาคพื้น (GTC) ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (ระยะที่ 2 นอกเหนือจากระยะแรก 500 ไร่) เขตประกอบการค้าเสรี (Cargo Village or Free Trade Zone) และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ ทั้งนี้ รวมถึงกิจการสาธารณูปโภคที่จำเป็น และการจัดตั้งหอบังคับการบิน ระบบควบคุมการจราจรทางอากาศ
โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นการย้ายศูนย์ซ่อมของการบินไทยออกจากที่เดิม เพื่อก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และอาคารผู้โดยสารใหม่ โดยใช้เป็นโอกาสลงทุนให้ศูนย์ซ่อมใหม่ขนาดใหญ่ขึ้น และทันสมัยมากขึ้น เพื่อผลักดัน อุตสาหกรรมอากาศยานของประเทศ หน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กำหนดออกหนังสือชี้ชวนตุลาคม 2561 กำหนดได้เอกชนผู้ร่วมทุน ธันวาคม 2562 เปิดดำเนินการกลางปี 2565 มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การซ่อมใหญ่อากาศยาน (Heavy Maintenance / Base Maintenance) การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด (Line Maintenance) การพ่นสีอากาศยาน และส่วนประกอบอื่น (Aircraft Painting) กิจกรรมอื่น ๆ ในการซ่อมบำรุงอากาศยาน
โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นการขยายท่าเรือให้เป็นท่าเรือระดับภูมิภาค เพื่อความสามารถเป็น 15 ล้าน TEU จาก 8 ล้าน TEU ปัจจุบันมีกำหนดออกหนังสือชี้ชวนตุลาคม 2561 กำหนดได้เอกชนผู้ร่วมทุนกุมภาพันธ์ 2562 เปิดดำเนินการปลายปี 2566 หน่วยงานเจ้าของโครงการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ท่าเรือ E0 E1 E2 F1 และ F2 โดยการท่าเรือจะเป็นผู้ดำเนินการถมทะเล และให้เอกชนลงทุนการให้บริการท่าเรือ โดยเริ่มต้นจากที่ F1 และ F2 ก่อน ให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัยใช้ระบบอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม การท่าเรือฯ จะดำเนินการส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานล่วงหน้าโดยเฉพาะระบบรถไฟให้เข้าเชื่อมระบบเรือสู่ราง
โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นการขยายท่าเรือมาบตาพุดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ (ประมาณ 10.8 ล้านตัน/ปี) และสินค้าเหลว (ประมาณ 4 ล้านตัน/ปี) ให้เป็นท่าเรือระดับภูมิภาค มีกำหนดออกหนังสือชี้ชวนตุลาคม 2561กำหนดได้เอกชนผู้ร่วมทุนมกราคม 2562 มีกำหนดเปิดดำเนินการต้นปี 2568 หน่วยงานเข้าของโครงการคือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ท่าเรือก๊าซ ท่าเรือของเหลว คลังสินค้าและธุรกิจต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบอ.ยังรับทราบแผนพัฒนาโครงการแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระยะเวลา 5 ปี ตามข้อเสนอของกระทรวงดีอีในร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอีอีซีให้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค ประกอบด้วย 8 แผนงาน ระยะความเร่งด่วนในการดำเนินงาน ดังนี้ แผนงานที่ 1 การพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) และสถาบัน IoT แผนงานที่ 2 การพัฒนา Advanced Big Data, Cloud and Data Center (ABCD) แผนงานที่ 3 การพัฒนาศูนย์กระจายพัสดุภัณฑ์อัตโนมัติ (Automated Postal Distribution Center) แผนงานที่ 4 IoT SMART City แผนงานที่ 5 การสร้างศูนย์ทดสอบ 5G และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นำร่อง แผนงานที่ 6 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน IoT ในเขต EEC แผนงานที่ 7 โครงสร้างพื้นฐาน ท่อร้อยสาย เคเบิ้ลใยแก้วนำแสงและเสา (i-Pole) แผนงานที่ 8 ASEAN Digital Hub.-สำนักข่าวไทย