เอสเอ็มอีทาวเวอร์ 28 ก.ย. – เอสเอ็มอีแบงก์เตรียมหารือคลัง-อุตสาหกรรม-ภาคเอกชน ขยายเวลาจัดทำบัญชีเดียวออกไป 1 ปี แนะ ธปท.แก้ไขบทเฉพาะกาลลดผลกระทบรายย่อย พร้อมตรึงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า เอสเอ็มอีจดทะเบียนนิติบุคคลแล้วกว่า 500,000 ราย คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 11-12 ที่มีการทำบัญชีเป็นมาตรฐาน แต่ยังมีรายย่อยไม่พร้อมทำบัญชีเดียวประมาณ 3 ล้านราย เป็นรายย่อยขนาดเล็กไม่มีความรู้ ไม่รู้ข้อมูลว่ามีข้อกำหนด หรือลังเล ไม่ใส่ใจเรื่องการทำบัญชีเดียว เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนให้กับรายย่อยที่ไม่เคยจัดทำบัญชีในการหามาตรการช่วยเหลือ จึงเตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสหากรรม สถาบันการเงินรัฐ สภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย เพื่อขยายข้อกำหนดการจัดทำบัญชีเดียวออกไปอีก 1 ปี หวังลดผลกระทบกับรายย่อย
ทั้งนี้ เพื่อหามาตรการเยียวยา ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ให้รายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน จากนั้นจะเปิดให้เอสเอ็มอีรายย่อยมาลงทะเบียน เพื่อขยายเวลาการจัดทำบัญชีเล่มเดียวเฉพาะกลุ่มที่ต้องการให้ช่วยเหลือ รวมทั้งการเสนอตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีแนวประชารัฐ เดิมมีเงินเหลือ 8,000 ล้านบาท ใช้แล้วเหลือไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เพื่อนำกองทุนดังกล่าวไปช่วยเหลือดูแลและส่งเสริมให้เอสเอ็มอีปรับตัวเพื่อทำบัญชีเดียว เพื่อส่งเสริมให้คนไม่รู้ ได้รู้จักการทำบัญชี และปรับทัศนคติการทำบัญชี ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระบบ มองว่าเมื่อเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง ทั้งราคาน้ำมันและสงครามการค้าสหรัฐกับจีน การปรับเพิ่มดอกเบี้ยอาจได้รับผลกระทบต่อเอกชนหลายส่วนโดยเฉพาะรายย่อย และสภาพคล่องในระบบยังสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เสนอแนะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แก้ไขบทเฉพาะกาลข้อกำหนดเรื่องการจัดทำบัญชีเดียวแม้จะเริ่มโครงการมาแล้ว 2 ปี แต่ผลสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะกลุ่มรายย่อย รายเล็กไม่ทราบข้อมูลข้อกำหนดการจัดทำบัญชีเดียว จึงเสนอขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี เพื่อนำหลักฐานการเงินแสดงฐานะการเงินในการขอสินเชื่อและรายเล็ก รายย่อย ร้อยละ 60-70 พร้อมจัดทำบัญชีเดียว ได้รับการพัฒนา อบรมการจัดทำบัญชี หากได้รับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ
ส่วนกรณีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงไม่ปรับดอกเบี้ยช่วงสิ้นปีนี้ แต่อาจปรับเพิ่มไตรมาสแรกปี 2562 เพราะเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง อีกทั้งเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่ควรปรับเพิ่มเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท เนื่องจากเงินบาทไม่ผันผวนเหมือนกับต่างชาติ อีกทั้งควรดูแลเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ผ่านมาตรการหลายด้าน เพราะเอสเอ็มอีกลุ่มนี้มีผลต่อกำลังซื้อรายย่อยของชาวบ้าน เพราะหากรายย่อยไม่ฟื้นตัวในต้นปีหน้าจะมีผลต่อการขยายตัวของจีดีพีปี 2562 ที่ตั้งเป้าหมายขยายตัวร้อยละ 4.5 จึงต้องพิจาณาช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย.-สำนักข่าวไทย