ศาล รธน.ไต่สวน 3 พยานคดีหุ้น “ดอน”

ศาลรัฐธรรมนูญ 25 ก.ย.-ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวน 3 พยานคดีหุ้น “ดอน” โดยประธานคณะกรรมการไต่สวนของ กกต. ยันทำเอกสารโอนหุ้นย้อนหลัง พบพิรุธไม่แจ้ง ป.ป.ช. ไม่มาชี้แจง ด้านกรรมการ 2 บริษัทฯ แจงไม่ขึ้น ปมต้องจัดประชุมวิสามัญรับรองการโอนหุ้น-ไร้หนังสือนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแจ้งเปลี่ยนแปลงหุ้น ศาลนัดพิจารณาคดีนี้ครั้งต่อไป 17 ต.ค.61


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25ก.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสามว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 และต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสองหรือไม่ โดยศาลได้ให้พยาน 3 ปาก คือ นายมนัส สุขสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวของสำนักงาน กกต.  , นายภัฏฏการก์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการบริษัทปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด และนายตรีวัฒน์ ทังสุบุตร กรรมการผู้จัดการบริษัทปานะวงศ์ จำกัด เข้าไต่สวน  โดยนายดอน และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ทนายความของนายดอน ได้เข้าร่วมรับฟังและซักถามพยานด้วย

ในการไต่สวน ศาลได้พยายามสอบถามเรื่องของข้อบังคับบริษัทเกี่ยวกับการโอนหุ้น การลงรายการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท การมีหนังสือนำส่งรายงานการโอนหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และการจัดประชุมสามัญและวิสามัญประจำปีของบริษัทที่มีข้อสังเกตว่าวาระการประชุมของปี 2557-2559  มี 5 วาระที่ดำเนินการเป็นประจำในทุกปี โดยไม่พบว่ามีเรื่องการรับรองการแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้มีถือหุ้นเลย แต่มาพบเป็นวาระการประชุมเดียวในวาระการประชุมวิสามัญของปี 2560


นายมนัส ในฐานะประธานคณะกรรมการไต่สวนคดีนี้ของ กกต. ชี้แจงว่า ในการสอบสวนเมื่อมีเหตุสงสัยเรื่องพยานเอกสารได้ให้โอกาสนายดอน ผู้ถูกร้องมาชี้แจงหลายครั้ง แต่ไม่มา ส่งเป็นเอกสารมาเท่านั้น โดยพยานเอกสารที่นายดอนส่งมาแม้จะเป็นหนังสือของนางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยายนายดอน ที่แสดงเจตนาโอนหุ้นให้นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย บุตรชายในวันที่ 10 เมษายน 2560 และมีการโอนหุ้นในวันที่ 27 เมษายน และวันที่ 30 เมษายน 2560 ถ้ามีการดำเนินการจริงในวันเวลาดังกล่าว ทำไมจึงไม่มีการแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับทราบ และแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในบริษัทแล้ว ขณะเดียวกันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และประธาน ป.ป.ช.แจ้งมาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ไปแล้ว 4 เดือนว่าการถือหุ้นของนางนรีรัตน์ในบริษัททั้งสอง ยังคงเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น ประกอบกับทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทภายในครอบครัว จึงทำให้คณะกรรมการไต่สวนฯ เห็นว่าการชี้แจงของนายดอนที่ว่าภรรยามีการโอนหุ้นให้นายเพื่อนใน 30 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ไม่น่าเชื่อถือ

“ผมในฐานะประธานคณะกรรมการไต่สวนฯ มีหนังสือไปยังประธานบริษัททั้งสองเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ขอให้ชี้แจงว่าระหว่างปี 58-60 นางนรีรัตน์ ได้ถือหุ้นในบริษัทเท่าไร คิดเป็นละร้อยละเท่าไรจนถึงปัจจุบัน และได้หุ้นมาด้วยวิธีใด ซึ่งบริษัทก็ตอบมาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ว่าการถือหุ้นเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบริษัทปานะวงศ์ จำกัด  ระบุว่านางนรีรัตน์ถือหุ้น 7,200 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 12 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ตรงกับข้อมูลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและประธาน ป.ป.ช.ส่งมา เมื่อพยานหลักฐานเป็นเช่นนี้ คณะกรรมการไต่สวนฯ ก็ไม่อาจฟังเป็นอย่างอื่นได้” นายมนัส กล่าว

นายมนัส ยังยอมรับกับคำถามที่นายเสรี ทนายความของนายดอน ซักค้านว่าที่นายมนัสเห็นว่าพยานหลักฐานที่นายดอนนำเสนอไม่น่าเชื่อถือและเป็นการทำย้อนหลังเพื่อเอาไว้ชี้แจงต่อศาลเท่านั้นเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่มีอยู่ในมติของคณะกรรมการไต่สวนฯ  หรือในการพิจารณาของ  กกต. เป็นการตอบในประเด็นที่ศาลตั้งประเด็นขอความเห็นว่ามีความเห็นเพิ่มเติมต่อกรณีนี้อย่างไร


ด้านนายภัฏฏการก์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการบริษัทปานะวงศ์ รีเอลที่ จำกัด ชี้แจงว่า หุ้นของบริษัทเป็นใบหุ้นระบุชื่อโดยมีข้อบังคับบริษัทว่าถ้ามีการโอนหุ้นต้องแจ้งบริษัททราบเพื่อป้องกันคนนอกไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อโอนหุ้นแล้วต้องเข้าที่ประชุมเพื่อรับทราบทุกครั้ง แล้วจึงมอบสำนักบัญชีไปดำเนินการแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าฯ ส่วนการโอนหุ้นในอดีต เคยมีของนายตรีวัฒน์ โอนให้บุตรแต่จำไม่ได้ชัดว่าปีอะไร ยอมรับว่าในปี 2557-2559  ไม่มี เพิ่งจะปรากฎเป็นครั้งแรก คือ กรณีของนางนรีรัตน์ ซึ่งเห็นว่าเมื่อบริษัทรับทราบสัญญาการโอนหุ้นในวันที่ 30 เมษายน  ก็น่าจะถือว่าการโอนหุ้นมีผลตามกฎหมายในวันดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายจรัญ  ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สอบถามถึงการแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นไปยังกรมธุรกิจการค้าว่าต้องมีหนังสือนำส่ง นายภัฏฏการก์  ได้เคยเซ็นหรือเห็นหนังสือฉบับนี้หรือไม่ เพราะตามแบบพิมพ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้เป็นกรรมการบริษัทต้องลงนามและประทับตราบริษัท รวมทั้งจากเอกสารกาประชุมสามัญปี 2557-2559 ที่บริษัทนำส่งทุกครั้งจะมี 4-5 วาระ เช่น การรับรองผลการดำเนินการประจำปีที่ผ่านมา การตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีและการกำหนดค่าตอบแทน การรับรองงบดุล แต่เหตุใดในการประชุมสามัญปี 2560 กลับไม่มีวาระเหล่านี้ และมามีในการประชุมวิสามัญครั้งที่ 2  ซึ่งก็ไม่มีวาระในเรื่องแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีและค่าตอบแทน

ขณะที่นายตรีวัฒน์ ทังสุบุตร กรรมการผู้จัดการบริษัทปานะวงศ์ จำกัด ชี้แจงว่า หุ้นของบริษัทเป็นประเภทระบุชื่อ บริษัทไม่มีข้อบังคับ แต่เมื่อมีการโอนหุ้นต้องเข้าที่ประชุมเพื่อแจ้งผู้ถือหุ้นทราบ โดยจะนำเข้าที่ประชุมหลังเปลี่ยนแปลงกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงจะมีอยู่ในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้น ยืนยันการเปลี่ยนแปลงหุ้นในกรณีนี้มีบันทึกอยู่ในสมุดทะเบียนและนำส่งภายหลัง

นายตรีวัฒน์ กล่าวอีกว่า การประชุมสามัญประจำปี 2560 มีวาระ 2 เรื่อง คือ รับรองงบการเงิน กับเรื่องอื่น ไม่มี 5 วาระเหมือนปี 2557-2559  รวมทั้งไม่มีวาระการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี เพราะเจ้าหน้าที่ที่รับดำเนินการทำไม่ทัน และในเมื่อการประชุมสามัญไม่ได้อนุมัติแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีและกำหนดค่าตอบแทน จึงต้องมีการประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องที่ขาด แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ส่วนการแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ดำเนินการ จึงไม่ทราบเรื่องหนังสือนำส่งและกระบวนการ เพราะเป็นการแจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การที่คณะกรรมการไต่สวนของ กกต.ส่งหนังสือไปสอบถามเรื่องการถือหุ้นของนางนรีรัตน์นั้น เจ้าหน้าที่บริษัทได้ตอบตามเอกสารที่ปรากฎกับกระทรวงพาณิชย์ แต่ไม่ได้ตอบตามที่มีการโอนหุ้นจริง เพราะยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ประกอบกับเจ้าหน้าที่เร่งรัดในเรื่องการตอบโดยให้เวลาเพียง 10 วันนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 แต่บริษัทก็ตอบภายใน 3 วัน

หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งต่อคู่กรณีว่า ศาลนัดพิจารณาคดีนี้ในครั้งต่อไปวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เวลา 13.30 น. ขณะที่นายดอน ได้เดินทางกลับโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใด ๆ กับสื่อมวลชน.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

“เอกภพ” เข้าพบ พนง.สอบสวน หลังถูกออกหมายจับ

“เอกภพ สายไหมต้องรอด” เข้าพบ พนง.สอบสวน หลังถูกออกหมายจับปมพยานเท็จดิไอคอน ยันบริสุทธิ์ใจ หากช่วยเหลือประชาชนแล้วโดนจับก็พร้อมรับ

“โอปอล สุชาตา” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 เข้าพบนายกฯ

“โอปอล สุชาตา” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 เข้าพบ “แพทองธาร” นายกฯ ชื่นชมเป็นคนเก่ง-มองโลกบวก เป็นหน้าตาของประเทศ นำเสนอวัฒนธรรม-ซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านการประกวด พร้อมชวนร่วมงานรัฐบาล สร้างแรงบันดาลใจเด็กๆ ขณะที่ นายกฯ เขินถูกชมว่าตัวจริงสวย

ล้มล้างการปกครอง

ศาล รธน.มีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้อง “ทักษิณ-พท.” ล้มล้างการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” ล้มล้างการปกครอง

คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญถกคำร้อง “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างฯ

จับตา ศาลรัฐธรรมนูญ “รับ/ไม่รับ” คำร้องปม “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่