กรุงเทพฯ 24 ก.ย. – รมว.เกษตรฯ เตรียมมอบนโยบายนมโรงเรียนบ่ายนี้ คุมเข้มจัดสรรสิทธิ์การจำหน่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเด็กนักเรียนดื่มนมที่คุณภาพและปลอดภัย
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันนี้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนมารับทราบนโยบายการควบคุมดูแลการจัดสรรสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2/2561 โดยจะกำชับให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จัดสรรสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียนว่า มีคุณสมบัติถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ยืนยันว่าไม่ได้สั่งการให้แก้ไขข้อกำหนดการจัดสรรสิทธิ์ แต่ยังคงให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ นมโรงเรียนตามกฎหมายเช่นเดิม แต่ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และกรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสารต่าง ๆ ของผู้ยื่นขอจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียนในภาคเรียนที่ 2 ทั้งรายเก่าและผู้ที่ยื่นขอใหม่ อีกทั้งให้ทบทวนประวัติการส่งนมโรงเรียนของผู้ได้รับการจัดสรรสิทธิว่า ที่ผ่านมามีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับนมเสียหรือน้ำนมไม่ได้คุณภาพจนถูกลงโทษหรือไม่ เพื่อนำมาพิจารณาในการจัดสรรสิทธิในภาคเรียนที่ 2 นี้ด้วย รายที่ดำเนินการดียังคงให้สิทธิ์ต่อไป ส่วนรายที่มีประวัติเสียให้ลดหรืองดสิทธิ์การจำหน่ายตามระเบียบ
สำหรับปัญหาที่ได้รับทราบจากคณะอนุกรรมการฯ นมโรงเรียน คือ การจัดทำ MOU กับสหกรณ์โคนมหรือศูนย์รวบรวมนมอันเป็นเท็จ โดยนำมาขอโควตาจำหน่ายนมในปริมาณที่มากกว่าน้ำนมดิบที่ผู้ประกอบการหาได้ แล้วใช้วิธีไปรับน้ำนมดิบจากที่อื่นมาผลิตและจำหน่าย ซึ่งเป็นการแย่งโควตาจากผู้ประกอบการที่มีน้ำนมดิบอยู่จริง ส่งผลให้เกษตรกรและสหกรณ์โคนมที่มีน้ำนมดิบอยู่จริงไม่สามารถจำหน่ายนมได้ จึงร้องเรียนมายังรัฐมนตรี รวมทั้งจะขอเข้าพบเพื่อให้แก้ปัญหาดังกล่าวให้ด้วยในวันนี้
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนยังเป็นห่วงเรื่องนมเสีย ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยทุกภาคเรียน โดยขั้นตอนที่จะเกิดข้อบกพร่องให้นมเสียได้มี 3 สาเหตุหลัก คือ กระบวนการผลิตในโรงงานแปรรูป การขนส่งจากโรงงานไปยังโรงเรียนซึ่งยังไม่มีระบบตรวจสอบอย่างจริงจังว่า ได้จัดวางบรรจุภัณฑ์อย่างถูกต้องและรักษาอุณหภูมิตามที่กำหนดหรือไม่ อีกส่วนหนึ่งคือ การเก็บรักษาที่โรงเรียนซึ่งจะต้องทำอย่างเหมาะสมเช่น ไม่วางซ้อนหลายชั้นจนเกินไป จนกล่องบุบหรือฉีกขาด จนทำให้นมบูดได้
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามปัญหาของนมโรงเรียนพบว่า การจัดสรรสิทธิ์การส่งนมข้ามจังหวัดหรือข้ามเขตทำให้มีปัญหาการควบคุมคุณภาพนมโดยเฉพาะนมพาสเจอร์ไรส์ที่ต้องเก็บรักษาในอุณภูมิต่ำตลอดเวลา หากใช้เวลาขนส่งนานขึ้นจะเกิดความเสี่ยงที่นมจะเสีย รวมทั้งต้นทุนในการขนส่งก็สูงขึ้นด้วย ดังนั้น จะหารือกับคณะกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนเรื่องเส้นทางขนส่งนม ซึ่งต้องสั้นที่สุดและต้องควบคุมคุณภาพระหว่างขนส่ง คือ จังหวัดใดที่มีสหกรณ์โคนมและมีโควตานมพาสเจอร์ไรส์ให้ส่งในจังหวัดนั้นก่อน หากมีส่วนเหลือจึงจะให้ส่งข้ามจังหวัดในระยะทางที่สั้นที่สุด ในทางกลับกันจังหวัดใดที่ไม่มีสหกรณ์โคนมก็ต้องรับโควตาจากสหกรณ์ที่มีระยะทางสั้นที่สุด นอกจากนี้ เกษตรกรยังประสบปัญหาแม่โคมีอัตราการให้น้ำนมต่ำ คือ ให้อาหารมาก แต่น้ำนมที่รีดได้แต่ละวันน้อย ซึ่งจะมอบหมายกรมปศุสัตว์เข้าไปดูแลแก้ปัญหาเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ขณะนี้ราคาน้ำนมดิบที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยลิตรละ 18 บาท หากต้นทุนค่าอาหารสูง แต่ได้ปริมาณน้ำนมไม่คุ้ม เกษตรกรจะมีกำไรน้อย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ต้องดูแลให้ครบทั้งวงจรคือ ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีรายได้อย่างเหมาะสม เด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพตามหลักโภชนาการ และผู้ประกอบการส่งนมได้รับการจัดสรรสิทธิอย่างเป็นธรรม
ทางด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีปศุสัตว์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียน กล่าวว่า ในการรับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ วันนี้จะมีการหารือเรื่องการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียน เพื่อทบทวนประวัติของผู้ประกอบการรายเดิมว่าเคยมีปัญหาทั้งเรื่องการทำ MOU กับสหกรณ์โคนมว่าตรงกับจำนวนน้ำนมดิบที่มีอยู่จริงหรือไม่ รวมถึงเคยถูกลงโทษเนื่องจากนมเสียและนมไม่ได้คุณภาพหรือไม่ ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ที่มายื่นขอโควต้าก็ต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้ครบเพื่อให้การจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายโปร่งใสและเป็นธรรม ที่ผ่านมาเมื่อเปิดรับการพิจารณาจัดสรรสิทธิ์ก็เกิดปัญหาไปฟ้องร้องกันทุกภาคเรียน ดังนั้น ในการพิจารณาจัดสรรสิทธิภาคเรียนที่ 2 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องทำ MOU รับน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนม ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์สามารถตรวจสอบได้ทุกราย หากรายใดแจ้งเอกสารเท็จ หรือขอโควตาเกินกว่าปริมาณน้ำนมดิบที่มี จะงดให้สิทธิตลอดไป ส่วนในอนาคตจะหารือกับนายกฤษฎาและคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ให้เปิดประมูลในทุกภูมิภาคดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้ระบบ e-Auction เพื่อตัดปัญหาการผูกขาด
สำหรับเรื่องคุณค่าทางโภชนาการของนมโรงเรียนนั้นไม่ต้องเป็นกังวลเนื่องจากการผลิตนมโรงเรียนมีข้อกำหนดเรื่อง ปริมาณของแข็งในนม (Total Solid) ได่แก่ โปรตีน ไขมันสูงกว่านมพาณิชย์ อีกทั้งควบคุมจำนวน Somatic Cell ให้อยู่ในค่ามาตรฐานที่กำหนดเพื่อไม่ทำก่อโรคที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ ได้พัฒนาระบบจัดการที่มีคุณภาพตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยง ศูนย์รวบรวมนมหน้าโรงงาน โดยสำนักงานปศุสัตว์เขตจะสุ่มตรวจทุกเดือน ส่วนการตรวจสอบกระบวนการผลิตในโรงงานและผลิตภัณฑ์นมที่แปรรูปแล้วเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.).-สำนักข่าวไทย