รัฐสภา 21 ก.ย.-สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียว ประเทศได้ประโยชน์
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วันนี้ (21 ก.ย.) มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทำหน้าที่ประธานประชุม โดยพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งมีทั้งสิ้น 11 มาตรา แก้ไข 1 มาตรา ตัดออก 2 มาตราและเพิ่มใหม่ 1 มาตรา โดยกรรมาธิการฯ ให้เหตุผลเนื่องจากกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มีบทบัญญัติบางประการสมควรแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และการขอคืนภาษีเงินได้ปิโตรเลียมให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร
สมาชิกสนช. หลายคน อาทิ นายสมชาย แสวงการ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และพล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณตั้งข้อสังเกตในการตัดมาตรา 4 และมาตรา 8 ซึ่งเกี่ยวกับบทบัญญัติการขอคืนภาษีและการจำหน่ายหนี้สูญในกิจการปิโตรเลียม เพื่อนำหลักประกันมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพราะเกรงว่าอาจจะมีสิ่งใดแอบแฝงไม่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับพลังงาน สร้างผลกระทบต่อรัฐ ขณะที่ต้องการทราบถึงขอบเขตงานระยะเวลาสำหรับผู้รับสัมปทานใหม่ที่เข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้รับสัมปทานเก่าได้จริงหรือไม่ เนื่องจากกรงว่าอาจส่งผลเสียต่อรัฐบาลได้ อีกทั้ง ร่างเดิมต้องผ่านความเห็นชอบจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น กรรมาธิการต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับรายได้ของการสัมปทานรื้อถอนที่ตามมาด้วยผลประโยชน์ของรัฐและจะได้รับประโยชน์อย่างไร จากการวางหลักประกันของผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ
พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ชี้แจงว่าเพื่อนำมูลค่าหลักประกันของผู้รับสัมปทานมาหักลดภาษีเงินได้ ซึ่งดำเนินการตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียมและพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฯ เพื่อให้ผู้รับสัมปทานรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือวัสดุอื่นใดตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม พร้อมกับวางหลักประกันในการรื้อถอนต้องมีมูลค่าเท่ากับมูลค่าการรื้อถอน ทั้งกำหนดให้มีรูปแบบของการวางหลักประกัน 4 รูปแบบคือการใช้เงินสด การใช้ธนบัตรรัฐบาล การใช้หลักประกันแบบฝากธนาคารช่วยจัดการเอกสาร หรือ ตั๋วเงินเพื่อการเรียกเก็บที่มีเอกสารประกอบ และการใช้หลักประกันแบบ Letter of Credit ( L/C) หลักประกันที่เป็นเงินสดกับแบบธนบัตรรัฐบาล
“ภาครัฐสามารถนำมาบังคับใช้ได้ทันทีและเกิดความมั่นคง ส่วนหลักประกันแบบบีซีและแอลซีจะไม่มีความมั่นคงอาจกระทบต่อภาครัฐโดยตรง ในการเสียเงินได้ที่สูงมากและได้รับคืนน้อย แต่ถ้าในกรณีที่ไม่ได้รับเงินคืนจะทำให้รัฐกลายเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ในการรื้อถอนเพียงผู้เดียว ส่วนการนำหลักเกณฑ์หลักประกันในการเสียภาษีมาใช้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุดจากการวางหลักประกันที่สำคัญเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่น ๆ ส่วนการจัดทำทีโอเป็นเรื่องในอนาคต กรรมาธิการไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ ซึ่งยืนยันว่าร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอเข้ามาเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้หลักประกันมีความมั่นคงมากขึ้นและจะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย” พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ กล่าว
ขณะที่ตัวแทนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หน้าที่ในการรื้อถอนเป็นหน้าที่ของผู้รับสัมปทาน ถ้ามีรายเก่ารายใหม่สามารถตกลงกันได้ แต่การพิจารณากฎหมายฉบับนี้คำนึงถึงผลประโยชน์การรื้อถอนเป็นหลัก และผู้รับสัมปทานสามารถคิดภาษีย้อนหลังได้จากการรื้อถอน 5 ปี หรือ 10 ปีแล้วแต่ประเทศนั้น ๆ จะทำความตกลงกัน
คุณพรทิพย์ จาละ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอให้เพิ่มเติมถ้อยคำในมาตรา 10/1 ว่า การออกกฎกระทรวงและประกาศ เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ เพื่อครอบคลุมและเกิดความชัดเจนไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งกรรมาธิการยินยอมแก้ไขเพิ่มเติมตามที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอ
จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ด้วยคะแนน 164 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการ ซึ่งจะส่งไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป.-สำนักข่าวไทย
