ดินแดง 20 ก.ย.-ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ให้ข้อมูลต่อ คกก.สอบข้อเท็จจริง กระทรวงแรงงาน ไม่ฟันธงมีข้าราชการของกระทรวงเกี่ยวโกงหรือไม่ ด้านปลัดฯ แรงงาน คาด15 วันรู้ผล พบใครเกี่ยวข้องเอาผิดทั้งวินัยและอาญา
นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงความคืบหน้าการดำเนินการกรณีการโกงเงินคนพิการ ว่า วันนี้(20ก.ย.) คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้เชิญนายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการมาหารือ และให้ข้อมูล และสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หลังจากที่เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการ รวมทั้งให้ตรวจสอบการโกงเงินคนพิการ ซึ่งเครือข่ายฯ ระบุว่าสร้างความเสียหายปีละ1,500 ล้านบาท โดยการหารือในวันนี้เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างละเอียด เพื่อจะได้นำไปเป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบในส่วนที่กระทรวงแรงงานรับผิดชอบ ซึ่งกระทรวงได้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว มีนายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน คาดว่าจะรู้ผลภายใน 15 วัน และหากพบว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินการทั้งทางอาญาและทางวินัยโดยไม่มีข้อยกเว้น ส่วนหากผลการสอบสวนพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องไปถึงหน่วยงานราชการหน่วยงานอื่น ก็จะประสานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานนั้นไปเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกัน
ด้านนายวิวัฒน์ ประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า เบื้องต้นจะเชิญประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ รวมทั้งคนพิการคนอื่นๆที่สามารถเป็นพยานบุคคลมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม และตรวจสอบในหน้าที่และบริบทของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี 2กรม เกี่ยวข้อง คือกรมการจัดหางาน ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้มีการจ้างงานในทุกกลุ่มบุคคล รวมทั้งคนพิการ ซึ่งที่ผ่านมามีคนพิการมาขึ้นทะเบียนจำนวน1,900 คน และมีการบรรจุจ้างงานแล้วประมาณ 1,500 คน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาหลักสูตรอบรมให้กับคนพิการว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดการอบรมเองหรือไม่ได้มีงบประมาณส่วนนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีการพิจารณาหลักสูตรอบรมไปแล้ว 8,200 หลักสูตร
โดยหลักการพิจารณาหลักสูตรจะตรวจสอบให้การอบรมในหลักสูตรนั้นๆ มีความคุ้มค่าหรือมีมูลค่า ไม่น้อยกว่า 109,500 บาทต่อคนต่อปี และเมื่อพิจารณาตรวจสอบหลักสูตรเสร็จแล้ว ก็จะส่งต่อให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พิจารณาว่านายจ้างรายนี้มีสิทธิ ที่จะจัดอบรมตามมาตรา 35 หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบผู้พิการ โดยให้มีการลงรายชื่อและรับรองสำเนาด้วยตนเอง
ขณะที่นายปรีดา กล่าวว่า วันนี้มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงแรงงานในเบื้องต้น โดยไม่ฟันธงว่ามีข้าราชการของกระทรวงแรงงานเกี่ยวข้องกับการโกงเงินคนพิการหรือไม่ โดยระบุเพียงสั้นๆ มีมูลว่า มีข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้องจาก 2 หน่วยคือกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของ พม. และกรมการจัดหางาน แต่ไม่ระบุว่าเป็นการโกงหรือไม่อย่างไร และขอให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการในการตรวจสอบ ในส่วนของตนเองมองว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับคนพิการคือคนพิการไม่ได้รับเงินและถูกละเมิดสิทธิ .-สำนักข่าวไทย