กทม. 19 ก.ย. – มีกฎหมายให้เจ้าของสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงที่ปล่อยให้ไปกัดหรือทำร้ายบุคคลอื่น และไม่เข้ามาเยียวยาผู้บาดเจ็บ ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากเหตุที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเอาผิดทางอาญาได้เช่นกัน
กรณีสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงไปกัดหรือทำร้ายบุคคลอื่น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย ผู้ที่ถูกกัดหรือถูกทำร้าย สามารถเอาผิดเจ้าของได้ ตั้งแต่เรียกค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 ที่ระบุว่าหากความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เจ้าของหรือผู้รับเลี้ยงต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน ยกเว้นว่าจะมีเหตุพิสูจน์ได้ว่าเจ้าของระมัดระวังเต็มที่แล้ว นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับมาตรา 446 กรณีทำให้มีความเสียหายแก่ร่างกายและอนามัย รวมถึงเสียเสรีภาพก็สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้เพิ่มเติม
ส่วนการเอาผิดทางกฎหมายอาญาที่ชัดเจนและใช้กันมากที่สุด คือ มาตรา 377 ฐานปล่อยให้สัตว์ดุหรือสัตว์ร้ายจนไปทำอันตรายแก่คนอื่น โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังสามารถเอาผิดเจ้าของสุนัขฐานประมาท หากอันตรายจนสาหัส จะผิดตามมาตรา 300 โทษคือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท
หากได้รับอันตรายไม่มาก จะมีโทษตามมาตรา 390 ฐานประมาทจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บทั้งกายและใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท และโทษที่หนักที่สุดหากพิสูจน์ได้ว่าเจ้าของสัตว์ประมาท คือ มาตรา 291 ผู้ใดกระทำประมาทจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท. – สำนักข่าวไทย