เพชรบูรณ์ 18 ก.ย. – ครม.เห็นชอบชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีรายได้น้อยจากการซื้อสินค้าผ่านบัตรสวัสดิการ หวังกระตุ้นการออม เริ่ม 1 พ.ย.นี้
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อสินค้า โดยจะแยกเป็น 3 ส่วน คือ จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บไปทั้งหมดร้อยละ 7 นั้น จะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ถือบัตรต้องเสียจริงร้อยละ 1 โดยร้อยละ 5 จะคืนให้กับผู้ถือบัตร โดยจ่ายคืนผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) เพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าและร้านที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล ส่วนอีกร้อยละ 1 จะนำเข้าสมทบกองทุนการออมแห่งชาติของบุคคลดังกล่าว หรือนำเข้าบัญชี ทั้งนี้ วงเงินคืนแวต จะต้องไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ โครงการคืนภาษีแวตดังกล่าวจะมีระยะเวลาเพียง 6 เดือน คือ เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2561 – 30 เมษายน 2562 เป็นมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีแวตที่ผู้มีรายได้น้อยชำระ ซึ่งกระทรวงการคลังระบุว่าการที่ผู้มีรายได้น้อยใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น หากผู้ขายเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มราคาสินค้าจะมีภาษีแวตรวมอยู่ด้วยในอัตราร้อยละ 7 ทำให้ผู้มีรายได้น้อยต้องรับภาระภาษีในส่วนนี้
สำหรับข้อมูลจำนวนภาษีแวตที่ผู้มีรายได้น้อยชำระราคาสินค้าและบริการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ไม่รวมสินค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต) ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือร้านค้าเอกชนที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะนำส่งให้กรมบัญชีกลางผ่านระบบธนาคารกรุงไทยพัฒนา เพื่อรองรับการทำงานนี้ (เครื่องบันทึกการเก็บเงิน : Point of Sale หรือ POS) เพื่อนำไปประมวลผลคัดแยกจำนวนภาษีแวต ร้อยละ 7 ออกจากราคาสินค้าและบริการที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปจริงแต่ละเดือน โดยจะกันไว้ร้อยละ 1 ซึ่งเป็นภาษีแวตที่ผู้มีรายได้น้อยชำระราคาสินค้าและบริการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ แล้ว
ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 6 จะแบ่งเป็นร้อยละ 5 เพื่อให้กรมบัญชีกลางโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ แต่ละเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 1 จะโอนผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้กับบัญชีของผู้มีรายได้น้อยที่เป็นสมาชิก กอช. แต่หากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ ที่ขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิก กอช. ให้กระทรวงการคลังหารือกับธนาคารต่าง ๆ เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากระยะยาวรองรับการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ ดังกล่าว โดยให้ธนาคารพิจารณาผลตอบแทนที่เหมาะสม รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี
ทั้งนี้ จากข้อมูลการใช้สิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11 เดือน (ต.ค.60 – ส.ค.61) พบว่า ผู้มีสิทธิ์ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐ 128 ล้านครั้ง จำนวน 38,185 ล้านบาท หรือร้อยละ 99 ของจำนวนเงินการใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 38,535 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือน และแบ่งเบาค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้ระดับหนึ่ง .- สำนักข่าวไทย