กรมอนามัย18 ก.ย.-กรมอนามัย ห่วงเด็กไทยติดเกมแนะพ่อแม่เพียงแค่ให้เวลาเล่นกับลูก พาขยับร่างกาย เล่นน้ำ เล่นทำครัว ช่วยงานบ้าน ทำงานศิลปะ ฟังดนตรี ส่งผลดีทั้งระยะสั้นและยาว โดยไม่จำเป็นต้องซื้อของเล่นราคาแพงให้
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกระแสการเล่นเกมเพื่อเป็นกีฬา (E-Sport) อาจทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดว่าการส่งเสริมให้ลูกเล่นเกมจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งจากคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ตั้งแต่ยังเล็กเป็นสิ่งที่ดี โดยพฤติกรรมเหล่านี้กลับส่งผลให้พัฒนาการของเด็กแย่ลง ทั้งด้านสติปัญญา ภาษา สมาธิและสังคม โดยเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี เป็นช่วงเวลาทองของชีวิต ที่สมองจะมีการสร้างเส้นใยประสาทและวงจรการทำงานได้มากและรวดเร็วที่สุด เด็กควรได้รับการส่งเสริมให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายผ่านการเล่นกับพ่อแม่ พี่น้อง ธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ ปั้นดิน เล่นทราย เล่นน้ำ ต่อบล็อก เล่นบทบาทสมมติทำครัว ช่วยเหลืองานบ้าน ทำงานศิลปะ ฟังดนตรี และได้ออกไปสัมผัสประสบการณ์จริงในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้พัฒนาการสมวัยในทุกด้านและทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในทักษะต่างๆ ที่ได้จากการเล่น ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การวางแผน การควบคุมยับยั้งตนเอง ความมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในโลกปัจจุบัน
พญ.อัมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับเด็กวัยเรียนจะเป็นวัยที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ปีนป่าย กระโดดโลดเต้น เล่นสนุก เล่นกีฬา สะสมอย่างน้อย 60 นาที ในแต่ละวัน จะทำให้ร่างกายโดยเฉพาะกล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง สมาธิดีขึ้น สร้างความมั่นใจและภูมิใจในตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม เด็กวัยเรียนจะมีเวลาว่างมากขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรจำกัดชั่วโมงการเล่นเกมให้น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน
“การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ด้วยการเล่นและขยับเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องซื้อของเล่น เกมสำเร็จรูปราคาแพงให้ สำคัญที่สุดคือการให้เวลา เล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆในแต่ละวันร่วมกัน ไม่ปล่อยให้มือถือหรือหน้าจอเกมเลี้ยงลูกแทน จะส่งผลดีกับชีวิตลูกทั้งระยะสั้นและยาวต่อไปด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย