กรุงเทพฯ 14 ก.ย. – ศูนย์เฉพาะกิจฯ จับตาไต้ฝุ่นมังคุด จ่อฝนเพิ่มหลายพื้นที่ พุ่งเป้าภาคเหนือและอีสานตอนบนฝนหนักบางแห่งช่วง 17 -18 ก.ย.นี้
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันที่ 14 กันยายน ว่า วันนี้ประเทศไทยยังพบว่ามีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เมื่อเวลา 19.00 น.วานนี้ (13 ก.ย.) พายุดีเปรสชันบารีจัตสลายตัวแล้ว ยังเหลือไต้ฝุ่นมังคุดกำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อยและจะลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศจีนตอนใต้และอ่อนกำลังลงตามลำดับ และจะสลายตัวบริเวณประเทศจีนตอนใต้ หรือเวียดนามตอนบนในระยะต่อไป
สำหรับผลกระทบกับประเทศไทยนั้น ทางตรงคาดว่าจะมีฝนเพิ่มขึ้นภาคเหนือและอีสานตอนบน และมีฝนหนักบางพื้นที่วันที่ 17 -18 ก.ย. 61 นอกจากนี้ พายุลูกนี้จะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้แรงขึ้น ทำให้บริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักเกิดขึ้นช่วงวันที่ 17-19 ก.ย. 61 ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม ซึ่งศูนย์เฉพาะกิจฯ ยังต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด
ส่วนสถานการณ์ฝนวันนี้ พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก 49 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรสาคร นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง โดยฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากสูงสุดที่ จ.อุบลราชธานี 202 มม. จ.ศรีสะเกษ 115 มม. ปราจีนบุรี 95 มม. อุดรธานี 94 มม.กำแพงเพชร 91 มม. ลำพูน 70 มม. เชียงราย 69 มม. สระแก้ว 67 มม. ตราด 66 มม. ระยอง 65 มม. ประจวบคีรีขันธ์ 61 มม. ตาก 61 มม. ชัยภูมิ 61 มม. กรุงเทพมหานคร 60 มม. เลย 58 มม. สตูล 58 มม. น่าน 56 มม. ตามลำดับ
นายสำเริง กล่าวเพิ่มเติมถึงปริมาณน้ำในอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 6 แห่ง พบว่าปริมาณน้ำไหลเข้ายังน้อยกว่าระบายออก โดยเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนครปริมาณน้ำคิดเป็น 104% ของความจุ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี คิดเป็น 99% ไม่มีน้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี คิดเป็น 92% เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก คิดเป็น 86% และเริ่มลดการระบายน้ำ ทั้งนี้ต้องติดสถานการณ์ฝนเพื่อปรับแผนการระบายน้ำ พร้อมแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนทราบต่อเนื่อง เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี คิดเป็น 89%
ขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำที่ยังต้องเฝ้าระวังจากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่นมังคุด ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นเพิ่มจากปัจจุบันยังต้องติดตามสถานการณ์ฝนต่อเนื่อง ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งในแม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร อ.เซกา จ.บึงกาฬ แนวโน้มลดลงตามการลดลงของแม่น้ำโขง ห้วยหลวง จ.อุดรธานี แนวโน้มลดลง ห้วยคะนานหลง ต.นาสี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนภาคตะวันออกมีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งในแม่น้ำนครนายก บริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก แนวโน้มทรงตัว แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณ อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี แนวโน้มลดลง แม่น้ำบางปะกง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา แนวโน้มทรงตัว และภาคกลาง มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำในแม่น้ำป่าสัก บริเวณ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี.-สำนักข่าวไทย