นนทบุรี 6 ก.ย. – 2 กระทรวงเห็นตรงกันแก้กฎหมายเพิ่มโทษเอาผิดส่งออกผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนอ่อนไปตลาดต่างประเทศ หลังตรวจพบและตีกลับ และดูแลล้งทั่วประเทศให้รัดกุมมากขึ้น
นายวิชัย โภชนกิจ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกรณีผู้นำเข้าจากต่างประเทศตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือทุเรียนอ่อนไม่สามารถรับประทานได้ ซึ่งนำเข้าจากประเทศไทย ว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ส่งออกที่รับซื้อทุเรียนจากล้งอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายทุเรียนส่งออกรายใหญ่ของภาคใต้ เพื่อทำการส่งต่อไปยังตลาดปลายทางที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน 6 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยในจำนวนนี้ตรวจพบทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ล่าสุดเจ้าของล้งทุเรียนในจังหวัดชุมพรออกมายอมรับผิดและยินดีที่จะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท และให้ทำลายทุเรียนล็อตที่ไม่ได้คุณภาพทิ้ง เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของประเทศและผู้ส่งออก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีนเป็นประเทศส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของประเทศไทย สำหรับการส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผู้ส่งออกก่อนส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศจากกรมวิชาการเกษตรทุกครั้ง โดยทุเรียนที่พร้อมส่งออกจะต้องมีระดับความสุกร้อยละ 80 แต่ทุเรียนที่ตรวจพบครั้งนี้มีระดับความสุกเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพเป็นปัญหาที่พบบ่อยและต้องเร่งแก้ไข เพราะอาจจะกระทบต่อการส่งออกทุเรียนระยะต่อไป ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จะหารือร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับปรุงกฎหมายให้มีความรัดกุมและเข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อคุมเข้มคุณภาพการส่งออกและดูแลล้งทั่วประเทศ โดยให้คำนึงถึงคุณภาพ เพื่อรักษาตลาดต่างประเทศ เพราะกฎหมายที่บังคับใช้ปัจจุบันยังไม่มีความรัดกุมเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นเห็นตรงกันแก้กฎหมายเพิ่มโทษเอาผิดส่งออกผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนอ่อนไปตลาดต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการจงใจจำหน่ายทุเรียนอ่อนเข้าข่ายความผิด ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 271 ผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณา หรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.-สำนักข่าวไทย