ทำเนียบฯ 6 ก.ย. – สมาคมธุรกิจอียูหารือรองนายกรัฐมนตรี เตรียมขยายการลงทุนบุกตลาดไทยในเขตอีอีซี หลังต่างชาติมีความเชื่อมั่นบรรยากาศการลงทุนในประเทศ พร้อมร่วมผลักดันการเจรจาเอฟทีเอไทย-ยุโรปให้คืบหน้า
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับนาย Geoff Donald ผู้อำนวยการบริหาร Europe-ASEAN Business Alliance : EABA หรือสมาคมพันธมิตรธุรกิจยุโรป-อาเซียน เพื่อมาสอบถามช่องทางการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลังจากกลุ่มนักลงทุนจีน ญี่ปุ่น เดินทางเข้ามาเตรียมพร้อมขยายการลงทุนจำนวนมากช่วงที่ผ่านมา เพราะนักลงทุนยุโรปต้องการเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศ จึงต้องการเข้ามาผูกมิตรกับไทยมากขึ้น และสอบถามเกี่ยวกับการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ยุโรป ซึ่งไทยพร้อมเดินหน้าเจรจาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะขณะนี้สหภาพยุโรป (อียู) ผ่อนปรนเงื่อนไขมากขึ้น หลังจากอียูไม่ยอมแก้ไขช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดความล่าช้า
“นักลงทุนยุโรปยังได้สอบถามเกี่ยวกับไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำ “อาเซียนซัมมิท” ยุโรปจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง เพราะในเวทีประชุมดังกล่าวจะมีเวที CEO Forum ดังนั้น ปีหน้ารัฐบาลไทยตั้งใจจัดงานให้ยิ่งใหญ่ด้วยการเชิญผู้บริหาร CEO ยักษ์ใหญ่เข้ามาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นในเวทีประชุม สร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น” นายสมคิด กล่าว
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กลุ่มนักลงทุนหารือครั้งนี้ 15 ราย นับเป็นรายใหญ่ของยุโรปที่เข้ามาหารือ และยุโรปยังเป็นนักลงทุนในประเทศไทยอันดับ 3 รองจากจีน ญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ต้องการขยายการลงทุนในเขตอีอีซี โดยเฉพาะบริษัท Kaparky ดำเนินธุรกิจด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ต้องการเข้ามาลงทุนเรื่องระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อตั้งอยู่ในเขต EECi ไทยจึงเสนอให้พัฒนาบุคลากรของไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ CLMV เนื่องจากเห็นว่าไทยมีความคืบหน้ามากในการร่วมมือกับฮ่องกงพัฒนาไซเบอร์พอร์ตในภาคตะวันออก
ขณะที่บริษัท Roche ดำเนินธุรกิจทางการแพทย์ต้องการเข้ามาขยายการลงทุนด้านไบโอชีวภาพ ทางการแพทย์ต้องการเข้ามาทำวิจัยและพัฒนาทางชีวภาพ ในส่วนของธนาคาร ABN Amro ธนาคารยักษ์ใหญ่ของยุโรป ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเครือข่ายในการขยายบริการทางการเงินรูปแบบใหม่อันทันสมัย เนื่องจากสมาคมพันธมิตรธุรกิจยุโรป-อาเซียนเห็นกองทัพนักลงทุนจีน ญี่ปุ่นเข้ามาขยายการลงทุนในไทย พร้อมเสนอผ่อนปรนเงื่อนไขเพิ่มแรงจูงใจหลายด้าน นักลงทุนยุโรปจึงต้องการเข้ามาในลักษณะเดียวกันบ้าง นับว่านักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นบรรยากาศการลงทุนในประเทศมากขึ้น. – สำนักข่าวไทย