กรุงเทพฯ 4 ก.ย. – 4 กกพ.เดินหน้าทำงานต่อ รอ รมว.พลังงานชี้ขาดสรรหากรรมการใหม่ กรณีจีพีเอสซี เครือ ปตท.ซื้อหุ้นโกลว์ อยู่ระหว่างการตรวจสอบการผูกขาด ด้าน “กรณ์ จาติกวณิช” เตรียมยื่นหนังสือคัดค้านสัปดาห์หน้า
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ยังไม่ทราบว่านายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะมายื่นหนังสือคัดค้านกรณี บมจ.ปตท. เห็นชอบให้ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (จีพีเอสซี) บริษัทในเครือเข้าซื้อหุ้นบริษัท บริษัท โกลว์ พลังงานจำกัด (มหาชน) หรือโกลว์ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเมื่อใด โดย กกพ.มีหน้าที่ดูแลส่งเสริมการแข่งขันและลดการผูกขาด หากมีการเข้าซื้อกิจการจำนวนมากและตามกฎหมายของ กกพ.จะใช้เวลาตรวจสอบ 90 วัน หลังจากจีพีเอสซียื่นเรื่องให้พิจารณาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2561 ซึ่ง กกพ.จะต้องประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเข้ามาพิจารณาประกอบด้วย
ส่วนการทำงานของ กกพ.ขณะนี้มีผู้ทำงานเพียง 4 คน จากทั้ง หมด 7 คน เพราะมีผู้ลาออกและครบวาระ รวม 3 คนนั้น นายพรเทพ กล่าวว่า ตามกฎหมาย กกพ.สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ ส่วนการสรรหาใหม่ ก็คงจะขึ้นอยู่กับนโยบายของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะสั่งตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาเมื่อใด หรือจะให้ดำเนินการอย่างไร ในส่วนของ กกพ.พร้อมดำเนินการทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก บมจ.ปตท.ว่าจากการสอบถามทาง ปตท.ยังไม่ทราบเรื่องว่าจะมีการส่งผู้บริหารไปพบนายกรณ์ ในวันที่ 5 กันยายนแต่อย่างใด หลังจากนายกรณ์ ออกมาตั้งข้อสังเกตโพสต์ผ่าน FACEBOOK ถึงการทำงานของ ปตท.ทั้งกรณีการทำธุรกิจกาแฟอเมซอน การลงทุนธุรกิจโรงแรม และการซื้อหุ้นของโกลว์ ซึ่งมองว่าเป็นการผูกขาดตลาด ไม่ส่งเสริมเอสเอ็มอี เป็นต้น
นายกรณ์ ให้สัมภาษณ์สั้น ๆ ว่า วันที่ 5 กันยายนทาง ปตท.ได้นัดมา แต่ยังไม่ได้ระบุสถานที่ และไม่ให้เปิดเผยว่าบุคคลระดับใดใน ปตท.จะมาชี้แจง ส่วนการเดินสายในนามพรรคประชาธิปัตย์ที่จะยื่นร้องเรียนดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารนโยบาย, ยื่นต่อ กกพ.ในฐานะผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า และต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในกรณีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ก็คงจะเริ่มได้ในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ใน FACEBOOK ของนายกรณ์ มีผู้แสดงความเห็นนทั้งผู้คัดค้านและสนับสนุนแนวคิดของนายกรณ์ เป็นจำนวนมาก เช่น นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตซีอีโอ ปตท.ระบุว่า กว่า 90% ของผู้ลงทุน Cafe Amazon คือ รายย่อยครับ ไม่ใช่ ปตท.ลงทุน , Engie บริษัทแม่ของ Glow ขายหุ้นให้ GPSC เพราะต้องการเปลี่ยนนโยบายมุ่งสู่ Renewables ขณะที่ธุรกิจก๊าซเริ่มเปิดเสรี และ ปตท.กับ GPSC ดำเนินธุรกิจลักษณะ Arm Length เพราะต่างก็เป็นบริษัทมหาชนสัญญาระหว่างกันที่มีนัยยะสำคัญถือเป็น connected transaction ที่ต้องให้ผู้ถือหุ้นอื่นเห็นชอบ ฮั้วกันไม่ได้ และธุรกิจน้ำมันและขายปลีกของ ปตท. (PTTOR) ไม่มีสิทธิพิเศษจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แข่งขันกับเอกชนอื่นรวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติบนสนามที่เท่าเทียมกัน และอยู่ระหว่างการนำเข้าจดทะเบียนและกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
นางจันทร เศาภายน อดีตผู้บริหาร ปตท. ระบุว่า การที่ ปตท.ต้องทำ Cafe Amazon และเตรียมทำโรงแรมขนาดจิ๋วนั้น เป็นเพราะว่าค่าการตลาดน้ำมันที่รัฐบาลควบคุม/กำกับนั้น ให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว เพื่อให้มีบริการปิโตรเลียมแก่ประชาชนได้ตลอดเวลา ปตท.จึงจำเป็นต้องหาธุรกิจอื่นเข้ามาเพื่อเสริมรายได้ปั๊มน้ำมันและดีลเลอร์ ถ้าจะให้ตัด Cafe Amazon และเรื่องโรงแรมจิ๋วออกไป ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำปั๊มก็จะได้รับผลกระทบ ส่วนการลงทุนของกลุ่ม ปตท. เรื่อง GPSC ซื้อ GLOW นั้น ก็เพื่อความมั่นคง เพราะ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่น ล้วนแต่ต้องใช้ไฟฟ้าในการดำเนินงานทั้งสิ้น เพียงแค่ไฟกระพริบ ไฟตก. ไฟดับ เพียงแค่ไม่กี่นาที ก็สร้างความเสียหายทีละหลายร้อย/พันล้านบาท
“คุณกรณ์มองแค่มุมเดียวว่า ปตท.จะได้เปรียบจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้มองว่ามันมีมุมที่เสียเปรียบเช่นกัน เช่นว่าขายน้ำมันให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจได้จริง แต่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ควรจะเป็น เช่น ลูกหนี้บางรายค้างจ่ายเงินข้ามปีงบประมาณ ถ้าขายให้เอกชนก็คงจะเลิก/งดขายสินค้าไปแล้ว จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก็ทำไม่ได้ เงินที่ ปตท.กู้มาใช้จ่ายดำเนินงานก็มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ปตท.ไม่สามารถบิดพริ้วได้ แต่พอขอคิดดอกเบี้ย/เบี้ยปรับ ทาง ปตท.ก็มักจะถูกต้นสังกัดหักคอให้ลดดอกเบี้ย/เบี้ยปรับเสมอ ๆ ในทางทฤษฎี ปตท.ก็อยากจะเน้นเฉพาะเรื่องที่มีผลต่อยุทธศาสตร์ของประเทศเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติและในโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าไม่มีเงิน ไม่มีกำไร ไม่มีความเชื่อมั่นของนักลงทุน ปตท.จะทำเรื่องที่มีผลต่อยุทธศาสตร์ของประเทศได้อย่างไร” นางจันทร ระบุ.-สำนักข่าวไทย