กรุงเทพฯ 3 ก.ย. – กรมชลฯ ระบุใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง รับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา หลังน้ำเหนือทำเจ้าพระยาสูงขึ้น พร้อมควบคุมระบายน้ำท้ายเขื่อนลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่างมากที่สุด
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนที่ชุกทางภาคเหนือทำให้มีน้ำไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มน้ำเพิ่มขึ้น โดยสถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้นเป็น 1,175 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อน้ำไหลมายังสู่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท จึงได้สั่งการให้สำนักชลประทานที่ 12 บริหารจัดการน้ำบริเวณเหนือเขื่อนด้วยการรับน้ำเข้าคลองในระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก คลองมหาราช ฝั่งขวา ได้แก่ คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย รวมประมาณ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และควบคุมน้ำให้ไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 820 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งคลองบางบาล และคลองโผงเผง บริเวณตำบลหัวเวียง ตำบลบ้านกระทุ่ม อำเภอเสนา ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร ทั้งนี้ การควบคุมอัตราการระบายดังกล่าวจะทำให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ได้รับผลกระทบนั้นทรงตัว
สำหรับการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำพลเทพที่จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำท่าจีนที่จังหวัดสุพรรณบุรี ไหลมายังจังหวัดนครปฐม กรมชลประทานเตรียมเร่งระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนช่วงจังหวัดนครปฐม โดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแล้ว 14 เครื่อง และกำลังเร่งติดตั้งอีก 39 เครื่อง ซึ่งจะเสร็จภายใน 1-2 วันนี้ จากนั้นจะติดตั้งในแม่น้ำท่าจีนเป็นระยะ ๆ รวมทั้งหมด 81 เครื่อง เพื่อช่วยให้การไหลของน้ำในแม่น้ำท่าจีนดีขึ้นและเร่งระบายออกทะเลจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอีกทางหนึ่ง
อีกทั้งวันนี้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะจะประชุมร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก จากวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จากวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ปรับลดเป็น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันเป็นลำดับ เพื่อลดปริมาณน้ำเหนือที่จะไหลลงมาเติมแม่น้ำเจ้าพระยา
นายทองเปลว กล่าวว่า จากการคาดการณ์ฝน 3 วันล่วงหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าทั่วประเทศจะมีปริมาณฝนตกน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้น้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้อยลงตามไปด้วย ทั้งนี้ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำในอ่างขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ อย่างรัดกุมและเคร่งครัด ด้วยการระบายน้ำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80-100 ของความจุอ่างฯ และอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper rule curve ) จะพิจารณาเร่งระบายให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ.-สำนักข่าวไทย