กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – สภาสถาปนิกแจงประเด็นปัญหางานออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สุวรรณภูมิ ระบุการที่ ทอท.ประกวดออกแบบก่อน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่บังคับใช้ ทำให้พลาดโอกาสประกวดแบบแบบ 2 ขั้นตอน ส่วนการลอกเลียนแบบจะสอบสวนลงโทษได้ต้องมีผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์สภาวิชาชีพ
พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน นายกสภาสถาปนิก พร้อมด้วยผู้บริหาร เปิดแถลงข่าวประเด็นการคัดเลือกผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยระบุว่าเบื้องต้นแม้ว่าบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.จะดำเนินการประกวดออกแบบตามขั้นตอนระเบียบของ ทอท. แต่ทำไปก่อน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 จะมีผลบังคับใช้เพียง 2 วัน ทำให้การประกวดออกแบบเสียโอกาสในการออกแบบ 2 ขั้นตอน ช่วยให้มีผู้เข้าประกวดออกแบบมากขึ้น
พลอากาศตรีหม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก ระบุว่าการดำเนินการ 2 ขั้นตอน ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่จะเริ่มจากประกวดแนวคิด หลังจากนั้นจะนำไปสู่การประกวดออกแบบ ซึ่งผู้ที่ผ่านขั้นตอนแรกเข้าสู่การพิจารณาประกวดแบบขั้นสุดท้ายก็สามารถดึงทีมของผู้ที่ยื่นประกวดแนวคิดแต่ไม่ผ่านรอบแรกมาร่วมอยู่ในทีมประกวดออกแบบได้ ซึ่งการดำเนินการแบบนี้จะทำให้มีผู้ประกวดออกแบบหลายราย แต่การไม่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ใหม่ ว่าการประกวดของ ทอท.ครั้งแรกไม่มีผู้เสนองานเข้าออกแบบ และเมื่อดำเนินการครั้งที่ 2 พบว่ามีผู้เสนอเพียง 4 ราย
ทั้งนี้ สภาสถาปนิกขอย้ำว่าการดำเนินการของ ทอท.ไม่ได้ผิดระเบียบ แต่พลาดโอกาสหลายประเด็น รวมถึงการจัดหาบริษัทที่ปรึกษาหรือทีเอ็มจี เข้ามาช่วยดำเนินการในการศึกษาความเหมาะสมตั้งแต่เริ่มดำเนินการประกวดแบบด้วย
ขณะที่นายชาญณรงค์ แก่นทอง อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่ 2 ระบุถึงปัญหาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้ชนะประกวดแบบมีการลอกแบบมาจากงานคนอื่นนั้น เมื่อดูตามระเบียบสภาวิชาชีพสถาปนิกการนำไปสู่การสอบสวนเพื่อนำไปสู่การลงโทษได้นั้น จะต้องมีผู้เสียหายเข้ามากล่าวโทษว่ามีการลอกแบบของตนเอง หลังจากนั้นสภาสถาปนิกจะดำเนินการสอบสวนตามหลักฐานที่มีทั้งหมด เพื่อตัดสินว่าจะมีการลงโทษหรือไม่ โดยยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้
ทั้งนี้ การดำเนินการลงโทษผู้ประกอบอาชีพสถาปนิกในกรณีลอกแบบนั้น เคยมีในอดีต เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาตอนที่ประกวดออกแบบอาคารรัฐสภาหลังใหม่ พบว่ามีผู้กระทำผิด โดยแบบเหมือนกับการออกแบบในต่างประเทศทุกอย่าง ครั้งนั้นสภาสถาปนิกได้มีการลงโทษพักใบอนุญาตของผู้กระทำผิดเป็นเวลา 3 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ทอท.ระบุถึงสาเหตุที่ ทอท.เร่งดำเนินการประกวดออกแบบก่อน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่มีการกำหนดอัตราค่าออกแบบร้อยละ 3 ของมูลค่างาน ขณะที่ พ.ร.บ.ฉบับเก่ากำหนดไว้เพียงกว่าร้อยละ 1 ซึ่งการดำเนินการประกวดออกแบบตาม พ.ร.บ.ฉบับเก่าทำให้ ทอท.ประหยัดเงินค่าออกแบบกว่า 500 ล้านบาท ทอท.มองว่าเป็นผลประโยชน์ต่อองค์กรที่ต้องเร่งดำเนินการ .-สำนักข่าวไทย