ทำเนียบ 29 ส.ค.-วิษณุ แจงขั้นตอนแก้ปัญหาการทำไพรมารีโหวต ให้ทุกพรรคการเมืองตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง 11 คน ประกอบด้วย กก.บห. 4 คน สมาชิกพรรค 7 คน คัดเลือกผู้สมัคร และเสนอให้กรรมการบริหารพรรค เลือก ยันไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ไม่ทำให้พรรคการเมืองได้เปรียบเสียเปรียบ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำไพรมารี โหวตว่า ต้องรอรายละเอียดคำสั่งที่จะออกเป็นมาตรา 44 ซึ่งจะประกาศใช้หลังกฎหมายเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับประกาศลงในราชกิจานุเบกษา ซึ่งหากดูคำสั่งจะเป็นวิธีการปฎิบัติที่ชัดเจน เบื้องต้นเป็นไปตามแนวทางของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอคือ ให้ทุกพรรคการเมือง ตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง จำนวน 11 คน แบ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค 4 คน และ สมาชิกพรรค 7 คน ทำหน้าที่ไปพูดคุยกับสมาชิกในแต่ละเขตจังหวัด รวบรวมรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง เสนอให้กรรมการบริหารพรรคเลือก
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากในรอบเเรกเลือกไม่ได้ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร นำบัญชีรายชื่อกลับมาพิจารณาใหม่และส่งให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาอีกครั้ง และหากยังไม่ได้ข้อยุติ ให้จัดประชุมพรรคและให้กรรมการบริหารพรรคและคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครลงคะแนนทางลับเพื่อเลือกผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นการรับฟังความเห็นคิดเห็น ซึ่งจะไม่ขัดมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ และไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของของพรรคการเมือง
“ขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครที่แต่ละพรรคเลือกมาทั้ง 11 คน น่าจะทำงานได้ 30 วันสุดท้าย เพราะ 60 วันแรกหลังกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะเป็นขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการจัดพื้นที่เลือกตั้ง แบ่งเขต ไพรมารีโหวต เพราะหากกกต.ยังไม่เเบ่งเขต พรรคการเมืองก็ไม่สามารถจัดผู้สมัครรับเลือกตั้งลงในแต่ละพื้นที่ได้ และเชื่อว่าการทำงาน 30 วันจะเพียงพอ เนื่องจากแต่ละพรรคน่าจะมีตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไว้อยู่แล้ว ซึ่งสามารถเลือกเป็นตุ๊กตาไปพรางก่อนได้ หรือจะทำในทางลับ เพียงแต่จะเคาะชื่ออย่างเป็นทางการได้ในช่วง 30 วันสุดท้าย” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย