นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ให้การสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการสินค้า OTOP มาโดยตลอด โดยได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้า OTOP Select ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้การสนับสนุนการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณสนามบินนานาชาติ จัดตั้งร้านค้า OTOP เพื่อจำหน่ายสินค้า OTOP Select โดยได้เปิดให้บริการแห่งแรกในปี 2557 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และในเดือนกันยายน ปีนี้ จะเปิดเป็นแห่งที่สอง ณ สนามบินภูเก็ตแห่งใหม่
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ ได้ริเริ่มจัดตั้งร้านค้า OTOP เป็นแห่งแรก ในปี 2557 ณ ศาลาไทย ชั้น 4 ฝั่งตะวันออกและตะวันตก อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท คิง เพาเวอร์ แท๊กซ์ฟรี จำกัด ในการคัดสรรและจำหน่ายสินค้า OTOP Select จากผู้ผลิตที่มีความพร้อมเชิงพาณิชย์ กำหนดระดับราคาที่สร้างความพึงพอใจแก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลความต้องการของลูกค้าสะท้อนกลับไปยังผู้ผลิตเพื่อพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในแต่ละปีมีการจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตสินค้า OTOP ทั่วประเทศ จำนวน 378 กลุ่ม ผลการดำเนินงาน ของร้าน OTOP ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มียอดจำหน่ายในปี 2557 มูลค่า 48.02 ล้านบาท และปี 2558 มูลค่า 70.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เฉลี่ยเดือนละกว่า 5 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 จะมียอดจำหน่ายทั้งปีไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท กลุ่มสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย (เช่น เสื้อผ้าฝ้ายผ้าพันคอ และหมอนรองคอ) อาหารและเครื่องดื่ม (อาทิ มะขาม กล้วยตาก) และของใช้และของที่ระลึก สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน (ร้อยละ 21.37) ไทย (ร้อยละ 8.55) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 7.96) เกาหลี (ร้อยละ5.38) และสหรัฐฯ (ร้อยละ 5.14)
ทั้งนี้ ในปี 2559 นี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ขยายความร่วมมือกับ ทอท. ในการเปิดร้านค้า OTOP บนพื้นที่ขนาด 33 ตารางเมตร ณ บริเวณชั้น 3 อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ สนามบินภูเก็ตแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการในเดือนกันยายน ศกนี้ สินค้า OTOP ที่วางจำหน่ายยังคงเป็นสินค้า OTOP Select ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สมุนไพร และอาหารสำเร็จรูป ทั้งนี้คาดว่า ในปีแรกจะมียอดจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแผนการขยายร้านค้า OTOP เพิ่มเติมอีก ณ สนามบินดอนเมือง และ สนามบินจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาของ ทอท. ในการสนับสนุนพื้นที่
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการส่งเสริมการตลาดสินค้า OTOP ของกระทรวงพาณิชย์ คือ การตลาดนำการผลิต ซึ่งต้องดำเนินการไปพร้อมกัน 3 ด้าน คือ 1) การพัฒนาทักษะของผู้ผลิตสินค้า OTOP ให้เข้าใจกระบวนการทางธุรกิจ การใช้เทคนิคกลยุทธ์การบริหารจัดการ การตลาดสมัยใหม่ การสร้างเครือข่ายTrader ทำหน้าที่ในการกระจายสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย 2) การพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบการนำเสนอสู่ตลาดอย่าง มีประสิทธิภาพ การสร้างตราสินค้า การเล่าเรื่องราวที่จะสร้างความพร้อมในการซื้อสินค้าให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงการ สร้างนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์สู่คนรุ่นใหม่ ทุกระดับวัย และ 3) การสร้างช่องทางการตลาดในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ การพัฒนาต้นแบบร้านค้า OTOP ที่ต้องมีการพัฒนารูปแบบให้เป็นที่น่าสนใจ การบริการของพนักงานขาย การให้ข้อมูลของสินค้าที่ชัดเจน สร้างการรับรู้เพื่อให้มองเห็นคุณค่าของสินค้าภูมิปัญญาไทย ตลอดจนสามารถพัฒนาเข้าสู่ร้านค้าในระบบแฟรนไชส์ที่สามารถยกระดับการจำหน่ายสินค้า OTOP ให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการขยายช่องทางการตลาดสู่ช่องทางออนไลน์ในสังคมยุคดิจิตอล
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีแผนการทบทวนคัดเลือกสินค้า OTOP Select ที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในร้านค้า OTOP บริเวณสนามบินนานาชาติของไทยอีกครั้ง หลังจากการสรุปผลการคัดสรรสินค้า OTOP ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2559 นี้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย