สำนักข่าวไทย 27 ส.ค -กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบ ยากันยุงเมียนมา พบไม่ทะเบียนอย. และพบสารต้องห้าม 2 ชนิด จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เคยตรวจสอบเมื่อปี 60 และเป็นการลักลอบนำเข้า ประชาชนต้องระวังอย่าหลงเชื่อ
นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา( อย.) กล่าวถึงกรณีมีการลักลอบวางขายยากันยุงพม่าเกลื่อนตลาดจนมีลูกสุนัขสังเวยชีวิต ว่า ประเทศไทยมีรอยต่อตามแนวชายแดนกับหลายประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงมีการลักลอบนำสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาจำหน่ายรวมถึงยากันยุงด้วย ซึ่งในส่วนของไทยก็จะมีเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และด่านอาหารและยาของ อย.คอยตรวจสอบและจับกุมไม่ให้มีสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในไทยอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องยากันยุงก็จะมอบหมายให้สสจ.ลงพื้นที่ตรวจสอบต่อไป
ด้าน ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า วันนี้(27 ส.ค.) อย.ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้เร่งลงพื้นที่ ติดตามหาต้นตอการลักลอบนำยากันยุงดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย พร้อมทั้งให้ความรู้กับประชาชนในการใช้ยากันยุงอย่างถูกต้อง รู้จักระวังและอันตรายของยากันยุง ได้แก่ ไม่จุดใกล้กับเด็กอ่อน หรือผู้ป่วย เพราะควันหากจุดในพื้นที่อับ อากาศไม่ระบายก็ล้วนแล้วแต่มีอันตรายต่อสุขภาพทั้งนั้น และยิ่งเป็นยากันยุงที่มีการลักลอบนำเข้ามาก็ยิ่งมีอันตราย และต้องมีการนำตัวอย่างมาตรวจหาสารเพิ่มเติมว่ามีสารชนิดใดอยู่บ้าง ส่วนกรณีที่สุนัขเสียชีวิตนั้น ปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากการที่สุนัขมีอายุน้อยเพียง 2-3 วันจึงทำให้ได้รับอันตรายได้
รองเลขาธิการอย. กล่าวต่อว่า สำหรับอันตรายจากสารที่อยู่ในยากันยุง จะมีข้างเคียงตั้งแต่ เกิดอาการแพ้สารหายใจไม่ออก มีผลต่อระบบประสาท ซึ่งในคนอาจไม่มีผลเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ในระยะยาวอาจมีผลต่อสุขภาพในเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการเผาไหม้ที่อาจได้รับสารอันตรายได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสำหรับโทษ ของผู้ครอบครอง ผู้ผลิต ผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
ด้านนพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบยากันยุงจากเมียนมา เป็นยากันยุงไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย . เป็นการลักลอบซื้อตามแนวชายแดน ทราบว่ามีกระบวนการผลิตที่จีน ทั้งนี้ยากันยุงดังกล่าว เมื่อไม่มีการนำเข้าก็จะไม่ทราบปริมาณที่แน่ชัด ทั้งนี้ยากันยุงดังกล่าวเคยได้รับการตรวจสอบ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มาแล้ว เมื่อตุลาคม 2560 พบว่า มีสารอันตรายต้องห้าม ที่ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในไทย 2 ชนิด ได้แก่ สารเฮปตาฟูลทริน และสารแอลเล ทริน ไอโซเมอร์ ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เข้าสู่ร่างกาย มีผลคลื่นไส้ อาเจียน ชักเกร็ง เสียชีวิต สารเป็นอันตราย ประชาชนต้องระวัง เพราะ ยาฆ่าแมลง มีผลต่อสัตว์ชนิดอื่นได้ ดังนั้นกการซื้อหา หากซื้อสินค้าในประเทศ ย่อมมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะมีการจดแจ้ง และข้อมูลอย่างชัดเจน -สำนักข่าวไทย