กทม. 23 ส.ค. – มาทำความเข้าใจกฎหมาย 2 ฉบับ ที่กรมการขนส่งทางบกปรับปรุงแก้ไข รวมเป็นฉบับเดียว นั่นคือ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 รวมเป็น (ร่าง) พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ขั้นตอนยังอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน จากนั้นจึงจะส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา และประกาศใช้บังคับใช้เป็นกฎหมาย
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกชี้แจงว่า การปรับตัวบทกฎหมายในครั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมและลดอุบัติเหตุ สาระสำคัญคือ “โทษเรื่องใบขับขี่” ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง คือ พระราชบัญญัติเดิมกำหนดโทษปรับสูงสุด 1,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ในร่างฉบับใหม่กำหนดว่า “หากขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ขึ้นอยู่กับ “ดุลพินิจของศาล” ที่จะมีความเห็นสั่งปรับเท่าไร
ส่วนความผิดเกี่ยวกับการขับรถแต่ “ใบอนุญาตสิ้นอายุ” หรือ “ถูกยึด” ปัจจุบันมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ฉบับใหม่จะเพิ่มโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือนเช่นกัน
สำหรับการ “ไม่แสดงใบขับขี่” ในร่างกฎหมายใหม่ โทษปรับสูงสุด 10,000 บาท จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ “พนักงานสอบสวน” จะสั่งปรับเท่าไร ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี
อย่างไรก็ตาม หาก “ใบขับขี่” เหลืออายุไม่ถึง 1 ปี กรมการขนส่งแจ้งว่าสามารถไปขอต่ออายุได้ก่อนถึงวันหมดอายุ
เมื่อตรวจสอบเรื่อง “ส่วนแบ่งค่าปรับจราจร” หากปรับ 100 บาท เงินจำนวน 50 บาท นำเข้ารัฐเป็นเงินแผ่นดิน อีกครึ่งหนึ่งจะถูกส่งไปเข้ากองทุนค่าใช้จ่ายหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น 2 บาท 50 สตางค์ ส่วนอีก 47 บาท 50 สตางค์ จึงจะเป็นส่วนแบ่งให้ตำรวจจราจร
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงเรื่องการยกเลิกส่วนแบ่งค่าปรับว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างพิจารณา “ยกเลิก” ส่วนแบ่งค่าปรับให้กับตำรวจจราจร เพื่อป้องกันข้อครหาการกวดขันวินัยจราจรบนท้องถนน หากมีการพิจารณายกเลิก ในอนาคต สตช.จะพิจารณาค่าตอบแทนอื่นๆ มาทดแทนแก่ตำรวจจราจรต่อไป. – สำนักข่าวไทย