ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ 23 ส.ค.-ศุลกากรเตรียมยกเลิกเกณฑ์ระงับคดี กระทำผิดซ้ำ 2 ส่งฟ้องศาล คุมเข้มนำเข้าสำแดงเท็จ หนีภาษี สินค้าออนไลน์ จับมือหลายหน่วยงานแชร์ เชื่อมโยงฐานข้อมูลบริการออนไลน์
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวระหว่างร่วมงานสัมมนา “Digital Customs 2018” ว่า ในวันที่ 1 กันยายนนี้ กรมศุลกากร เตรียมเริ่มใช้ระบบออนไลน์ในพิธีการศุลกากรกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้บริการนำเข้า ส่งออกสินค้า ด้วยการจัดทำฐานข้อมูลโยงกับหลายหน่วยงาน โดยเตรียมออกประกาศยกเลิกเกณฑ์ระงับคดีในเร็วๆนี้ เพื่อเปิดโอกาสทำผิดได้เพียงครั้งแรก หากกระทำผิดซ้ำลักลอบหนีภาษีครั้งที่ 2 อีก จะทำสำนวนส่งฟ้องศาลพิจารณาความผิดทางอาญา ปรับ 2-4 เท่าของราคาสินค้า และโทษอื่นๆ โดยไม่มีการเจรจาผ่อนปรนเรื่องระงับคดีในชั้นของศุลกากร
ทั้งนี้ยอมรับว่าขณะนี้การสั่งซื้อสินค้า E-Commerce แบบสั่งพรีออร์เดอร์เติบโตสูงขึ้น โดยปัจจุบันนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจัดส่งทางไปรษณีย์ไม่เกิน 1,500 บาทต่อชิ้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนสินค้าที่ราคาเกินกว่า 1,500 บาท และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่เริ่มจัดเก็บภาษี มียอดรายได้ภาษีประมาณ 5 ล้านบาทต่อเดือน และเนื่องจากเริ่มมีสินค้าเข้ามาที่ไปรษณีย์หลักสี่และไปรษณีย์หัวลำโพงมากขึ้น เพื่อลดความแออัดการเดินทางไปเสียภาษีที่ไปรษณีย์ จึงใช้ระบบออนไลน์แจ้งยอดเสียภาษีไปยังที่อยู่ และให้ผู้สั่งซื้อจ่ายภาษีผ่าน E-Payment ให้กับกรมศุลกากร
นอกจากนี้ ขณะนี้ตรวจพบว่ามีการซื้อขายกัญชาในสหรัฐ เป็นแบบเสรี จึงแพร่กระจายเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น ทั้งกัญชาจากสหรัฐ ยาไอซ์จากสหภาพยุโรป นับร้อยชิ้นต่อเดือน จึงได้ปรับใช้ระบบออนไลน์ ส่งข้อมูลให้ตรวจพิกัดสินค้า และส่งใบเรียกเก็บภาษีไปยังบ้านอยู่อาศัย และเสียภาษีผ่าน E-Payment มายังกรมศุลกากร โดยไม่ต้องเดินทางไปยังไปรษณีย์หลักสี่
นอกจากนี้ยังตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวศุลกากร เพื่อบริหารความเสี่ยง ติดตามดูการสำแดงสินค้าเท็จ การลักลอบหนี้ภาษีผ่านหลายช่อง เช่น ติดตามการเดินทางในช่วง 180 วัน หากเดินทางเข้าออกต่างประเทศถึง 140 วันไปยังประเทศกลุ่มเป้าหมายที่จับตา จะต้องขอตรวจดูสินค้านำเข้าติดตัวเข้ามาผ่านสนามบิน โดยไม่ต้องเสียเวลาติดตามผู้โดยสารจำนวนมาก กลุ่มที่ขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์ จะส่งรายชื่อไปยังด่านศุลกากรทุกแห่งทั่วประเทศ
กรมศุลกากรยังเดินหน้าเชื่อมโยงข้อมูลกับหลายหน่วยงานตามนโยบาย NSW (National Single Window) เตรียมเริ่มใช้กับทุกหน่วยงานรัฐ ที่ต้องออกใบอนุญาตนำเข้า ส่งออกสินค้า เพื่อลดปัญหาการใช้เอกสารซ้ำซ้อน จึงกำหนดให้ผู้ส่งออก นำเข้า แจ้งเอกสารหลักที่กรมศุลกากร จากนั้นจะแชร์ข้อมูลดังกล่าวเชื่อมไปยังทุกหน่วยงาน นำร่องสินค้าวัตถุอันตราย สินค้าเกษตร เป็นสินค้าที่ต้องขอใบอนุญาต อย. และด้านเกษตร ขณะนี้เชื่อมข้อมูลแล้ว 8 หน่วยงาน จากนั้นจะเร่ิมทะยอยใช้เต็มรูปแบบในปี 62 ครบทุกหน่วยงาน 33 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกนำเข้าส่งออกสินค้า ลดการใช้เอกสารซ้ำซ้อน No Coppy เพื่อใช้เอกสารสำหรับออกใบอนุญาติเฉพาะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้ต้องการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการส่งออก นำเข้า เกี่ยวกับแนวทางให้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้น ประกอบด้วยด้านการให้บริการยื่นคำขอลงทะเบียนเป็นผู้ปฏิบัติ พิธีการศุลกากรหรือปรับปรุงแก้ไขข้อมูลทะเบียนผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรของผู้ประกอบการนำเข้า/ส่งออก ผ่านอินเตอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยระบบการลงทะเบียนผู้มาติดต่อออนไลน์ (e-Register) และการยกเลิกสำเนาเอกสารราชการ (Zero Copy) ประชาชนสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพียงใบเดียวในการติดต่อราชการ, ด้านการให้บริการช่องทางการชำระเงินผ่านธนาคารหรือตัวแทนรับชำระเงิน ด้วยระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคาร/ตัวแทนรับชำระเงิน (e-Bill Payment) โดยสามารถชำระภาษีอากรและภาษีอื่น ๆ เช่น ใบขนสินค้า, ใบสั่งเก็บเงิน และใบแจ้งหนี้ค่าธรรมเนียมในการดำเนินการพิธีการทางศุลกากร การบริการตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวของไปรษณียภัณฑ์ (Postal Parcel) และบริการตรวจสอบข้อมูลใบขนสินค้า สำหรับหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาต (OGA Declaration) ด้วยระบบ e-Tracking -สำนักข่าวไทย