กรุงเทพ 20 ส.ค.- โครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะT77 เป็นโครงการแรกในอาเซียนซื้อขายไฟฟ้าระบบบล็อกเชน ค่าไฟฟ้าถูกกว่าระบบ 15 สตางค์/หน่วย ส่งผล กฟน. จับมือ BCPG เดินหน้าพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและการบริหารจัดการพลังงาน หรือธุรกิจอื่นๆ ที่มีความเห็นร่วมกัน
นายชัยยงค์ กล่าวว่า กฟน. จะมีบทบาทในการร่วมศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล และความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการต่างๆ ที่ทั้งสองหน่วยงานร่วมกันพัฒนาในพื้นที่จำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. เช่น โครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะสีเขียว T77 บนถนนสุขุมวิท โครงการความร่วมมือและพัฒนาธุรกิจระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และโครงการความร่วมมือและพัฒนาธุรกิจดิจิทัลพลังงาน โดยทั้งหมดมีการกำหนดกรอบความร่วมมือในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะช่วยให้ กฟน. ได้ผลการศึกษา และสามารถเตรียมพร้อมในการควบคุมจัดการเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย ด้วยระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เพียงพอ มั่นคง และมีเสถียรภาพต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อให้บริการประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างครบวงจร
“โครงการT77เป็นโครงการพลังงานทดแทน.ซื้อขายไฟฟ้าใช้กันเองจากพลังงานแสงอาทิตย์ ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการรองรับหากนโยบายรัฐให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนรูปแบบนี้ กฟน.ก็ มีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้ามาจำหน่ายมากขึ้นจากเดิมใข้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เป็นหลัก”นายชัยยงค์กล่าว
ส่วนการใช้ไฟฟ้าในเขต นครหลวง ผู้ว่า กฟน.คาดว่าปีนี้จะโตกว่าปีที่แล้วร้อยละ1 เหตุผลมาจากรถไฟฟ้าระบบรางมีการใช้เพิ่มมากขึ้น ส่วนอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ขยายตัวมากนัก
ด้านนายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะสีเขียว T77 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบีซีพีจี กับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) จะเริ่มดำเนินการทดลองระบบในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ โดย กฟน. ได้ให้การสนับสนุนในฐานะหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนองค์กร และมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมเพื่อให้บริการประชาชนด้วยแนวคิด smart metro ถือว่าเป็นโครงการแรกที่นำระบบล็อกเชนมาใช้ก่อให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้ากันเอง โดยในขณะนี้ บริษัทพูดคุยกับผู้ประกอบการ ทั้งมหาวิทยาลัย ,นิคมอุตสาหกรรม,อสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการให้บริษัมเข้าไปวางระบบ ทั้งติดตั้ง Solar Rooftop การค้าขายไฟฟ้าระหว่างกัน การติดตั้ง Energy Storage คาดจนถึงสิ้นปีนี้ บริษัทจะมีลูกค้าส่วนนี้ 20-30 MW และในอนาคต บริษัทจะกลายเป็นผู้ให้บริการบริหารพลังงานมากยิ่งขึ้น
“ค่าไฟฟ้าจากSolar Rooftop ผ่านการค้าระบบ Blockchain จะถูกกว่าการซื้อผ่าน กฟน.15 สต./หน่วย อย่างไรก็ตามไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะผลิตได้ 5 ชั่วโมงแม้จะเก็บสำรองก็อาจไม่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องซื้อจากระบบเข้าช่วยใน T77 ซึ่งจะมี4 อาคารเข้าร่วมคือ อาคารศูนย์การค้า,คอนโดมิเนียมและโรงเรียน มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม635 กิโลวัตต์”นายบัณฑิตกล่าว . – สำนักข่าวไทย