ภูมิภาค 18 ส.ค.- อิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่นเบบินคา พัดผ่านเข้าสู่ภาคเหนือของไทย ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ทะลักเข้าท่วมในหลายจังหวัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหลายร้อยหลังคาเรือน
หลังตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนัก ในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำฝนมากถึง 100 มิลลิเมตร ทำให้ลำน้ำหลายแห่งในพื้นที่เอ่อล้น และท่วมเส้นทาง สายเชียงใหม่-เชียงราย ถึง 5 จุด บริเวณบ้านปางแฟน ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณกิโลเมตรที่ 43 เลยวัดพระบาทปางแฟน ไปประมาณ 1 กิโลเมตร และบริเวณกิโลเมตรที่ 45 – 47 เป็นช่วงๆ ไปจนถึงเขตติดต่อกับจังหวัดเชียงราย ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างเส้นทาง ทำให้รถทุกชนิด ไม่สามารถผ่านได้ ขณะนี้ระดับน้ำยังทรงตัว ทางเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวง กำลังนำเครื่องจักรกล เข้าไปเปิดทางน้ำ เพื่อระบายน้ำอย่างเร่งด่วน ซึ่งในพื้นที่ยังคงมีฝนตก ลงมาอย่างโปรยปรายเป็นระยะ
นายธีระพงษ์ ขจรเดชากุล รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 เผยว่าขณะนี้กำลังเร่งนำเครื่องจักรมาปรับพื้นที่ทางไหลของน้ำเพื่อให้น้ำลดลงเร็วขึ้น และประสานศูนย์สะพานจังหวัดพิจิตร เพื่อนำสะพานเบลีย์ชั่วคราว ตามจุดที่ถนนขาด คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อยที่สุดไม่เกิน 3 วัน ที่จะสามารถใช้เส้นทางได้ เนื่องจากถนนขาดหลายจุด พร้อมทั้งให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นชั่วคราว ถ้าหากมาจากเชียงราย ให้ใช้เส้นทางสาย 118 มาถึงอำเภอเวียงป่าเป้า ไปแยกเข้าสาย 1150 จะไปทะลุอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และเข้าพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เส้นทาง 1101 แทนส่วนความเสียหาย ยังอยู่ระหว่างการสำรวจ
สถานการณ์น้ำท่วมที่ จังหวัดพะเยา ได้รับผลกระทบทุกอำเภอ รวม 9 อำเภอ หนักสุดที่ อำเภอปง และอำเภอเชียงคำ อย่างที่ อำเภอเชียงคำ แม่น้ำสายหลักเริ่มทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ตำบลฝายกวาง ตำบลร่มเย็น ตำบลเจดีย์คำ ตำบลหย่วน ส่วนที่อำเภอปง ได้ไหลเข้าท่วมในพื้นที่ ตำบลงิม ตำบลขุนควร และตำบลปง โดยน้ำที่ไหลจากลำน้ำงิม, น้ำลู, น้ำปุก, น้ำคาง, น้ำควร, มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และท่วมถนนสายหลักระหว่างตำบล,หมู่บ้านทางหลวง กม.ที่ 1188 12+825-12+ 900 และกิโลเมตรที่ 13+340 – 13+400
นายสิทธิ์ วงศ์ม่าน นายอำเภอปง จังหวัดพะเยา กล่าวว่า อิทธิพลจากพายุเบบินคาทำให้น้ำเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกหมู่บ้านในพื้นที่ปง 7 ตำบล กว่า 80 หมู่บ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำยม ที่เป็นแม่น้ำสายหลักของอำเภอเมือง และ อำเภอปง เป็นพื้นที่ต้นกำเนิดของแม่น้ำยม ที่ไหลผ่านภาคเหนือตอนบน 17 จังหวัด โดยที่ อำเภอปง จังหวัดพะเยา ความเสียหายส่วนมากจะเป็นพื้นที่การเกษตร ล่าสุด มีการประกาศเตือนให้อพยพชาวบ้านไปอยู่ในพื้นที่สูง เช่นโรงเรียน, วัด และเลี่ยงพื้นที่น้ำป่าไหลหลากไปใช้เส้นทางอื่นที่ปลอดภัยแทน
เกษตรกรในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของลุ่มแม่น้ำน่าน ในอำเภอวังทรายพูนและพื้นที่ตำบลสายคำโห้ ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมืองพิจิตร ต้องนำรถไถนาขนาดใหญ่มาชักลากท่อนไม้ ซึ่งถูกกระแสน้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ พัดพาลงมาในลำคลองสาขาที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำน่าน หลังจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจากอิทธิพลของพายุ “เบบินคา” โดยกิ่งไม้ขนาดใหญ่และวัชพืชดังกล่าวไหลมาอุดตันบริเวณท่อระบายน้ำ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการไหลระบายของมวลน้ำป่าก้อนใหญ่ ไม่สามารถระบายออกลงสู่แม่น้ำน่านได้ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การทำนาปลูกข้าวหอมมะลิ พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับกลุ่มเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ จำนวนกว่า 3,000 ไร่ เริ่มได้รับผลกระทบมีน้ำท่วมขัง ทำให้ชาวนาในพื้นที่ทั้ง 2 อำเภอต้องเร่งช่วยกันเปิดทางระบายมวลน้ำป่าดังกล่าว ให้สามารถไหลระบายออกลงสู่แม่น้ำน่านได้โดยเร็ว และเป็นการป้องกันไม่ให้ต้นข้าวหอมมะลิในแปลงนาที่กำลังตั้งท้องและบางส่วนที่กำลังออกรวง จมน้ำป่าได้รับความเสียหาย เพราะจะทำให้ชาวนาต้องประสบปัญหาการขาดทุนตามมา
ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย มีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ล่าสุดวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับอยู่ที่ 10.75 เมตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของเมื่อวานนี้ถึง 52 ซม. ต่ำกว่าตลิ่งเพียง 1.45 เมตร และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร เนื่องจากระดับน้ำทางตอนเหนือ คือ ที่สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย วันนี้เพิ่มขึ้นถึง 1.01 เมตร เช่นกัน อีกทั้งยังมีฝนตกทั้งในพื้นที่ ทางตอนบน และในสปป.ลาว จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนเบบินคา ทางการต้องติดตามสถานการณ์และเตรียมรับมือน้ำโขงหนุนลำห้วย และฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลัน
ระดับน้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้นได้เริ่มหนุนเข้าท่อระบายน้ำภายในเขตเทศบาลเมืองหนองคายแล้ว ซึ่งเทศบาลเมืองทำการปิดปากท่อระบายน้ำที่ชุมชนสระแก้วที่มีระดับต่ำกว่าจุดอื่น และจะทยอยปิดปากท่อระบายน้ำในจุดอื่นๆ ที่เหลืออีก 6 จุด พร้อมทำการสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำ ระบายน้ำภายในเขตเทศบาลลงในแม่น้ำโขงแทน นอกจากนี้ระดับน้ำโขงที่สูงขึ้นยังได้หนุนเข้าลำน้ำสาขาต่างๆ ซึ่งลำน้ำสาขาที่มีประตูระบายน้ำทั้งที่ห้วยหลวงและห้วยโมง จะทำการปิดประตูระบายน้ำในช่วงบ่ายของวันนี้ แล้วใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ระบายน้ำออกจากลำห้วยลงในแม่น้ำโขงแทน
ส่วนที่จังหวัดระนอง บริเวณจุดชมวิวน้ำตกปุญญบาล หมู่ 1 ตำบลบางนอน อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นถนนสายหลักเชื่อมต่อภาคกลางและภาคใต้ เกิดเหตุดินภูเขาเลื่อนไหล ความยาวจากบนภูเขากว่า 100 เมตร ซึ่งดินได้เลื่อนไหลทับถนนถึง 2 ครั้ง โดยเมื่อช่วงเย็นวาน(17ส.ค.) ที่ผ่านมา ดินได้เลื่อนไหลมาเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ได้ระดมเครื่องจักรกลหนัก มาทำการตักดินออกจากพื้นที่ จนต้องมีการปิดถนนไม่ให้รถทุกชนิดผ่าน จนถึงเช้านี้ก็ยังคงต้องปิดถนนเนื่องจากยังมีดินเลื่อนไหลและฝนตกลงมาเป็นระยะ
ล่าสุดเช้านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประเมิน พบว่า ในพื้นที่จุดเกิดเหตุ ยังมีความเสี่ยงต่อเนื่อง เนื่องจากดินภูเขาอุ้มน้ำมาก มีการเลื่อนไหลดินจากบนภูเขาลงมาสู่ด้านล่างตลอดเวลา อีกทั้งยังคงมีฝนมาเป็นระยะ จึงต้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ล่าสุดทางจังหวัดระนอง ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตภัยพิบัติ ห้ามรถทุกชนิดผ่านโดยไม่มีกำหนด เพื่อความปลอดภัย โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยบอกทางเบี่ยงทั้งในส่วนที่มาจากทางภาคใต้ ทั้งในส่วนที่มาจากทางภาคกลาง ให้ใช้ทางเบี่ยงชึ่งมีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ทั้งนี้จะมีการประเมินสถานการณ์ทุก 6 ชั่วโมง
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เนื่องจากมีฝนตกชุก และตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่จังหวัดน่าน ซึ่งจะมีฝนตกหนักในวันนี้อีก 1 วัน อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำได้
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในภาคเหนือจะยังมีฝนตกชุกต่อเนื่องอีก 1 วันในวันนี้ (18 ส.ค.) แต่ปริมาณฝนจะไม่มากเท่าวันที่ 17 สิงหาคม เนื่องจากพายุเบบินคาที่ได้เข้าปกคลุมจังหวัดเชียงรายเมื่อเวลา 01.00 น. คืนที่ผ่านมา และเวลา 04.00 น. เคลื่อนตัวสู่จังหวัดเชียงใหม่ และได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง จึงยังต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากในจังหวัดที่มีลักษณะภูมิประเทศลาดชัน เช่น น่าน พะเยา และอุตรดิตถ์.-สำนักข่าวไทย