กรุงเทพฯ 15 ส.ค. – คมนาคมแจงผู้ประกอบการรถโดยสาร ประเด็นรถ 2 ชั้น ยันไม่กระทบรถเก่าในระบบ ขณะที่ผู้ประกอบการยอมรับมีปัญหาขาดคนขับและคนขับที่ได้มาตรฐานหนัก
นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ร่วมกำหนดอนาคตรถทัวร์ไทย” โดยเน้นให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับมาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่กำหนด เพื่อสร้างความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ ทั้งในส่วนของมาตรฐานตัวรถ การใช้เทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร พร้อมทั้งตอบข้อสงสัยของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการใช้รถโดยสาร 2 ชั้น ว่าจะมีข้อห้ามนำรถมาให้บริการหรือไม่ ว่า รถโดยสาร 2 ชั้นที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว ผ่านการตรวจสภาพปีละ 2 ครั้งตามที่กำหนด มีประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจทุนประกันไม่น้อยกว่า 300,000 บาท พร้อมติดตั้งระบบจีพีเอสเรียบร้อยนั้น ยังสามารถวิ่งให้บริการได้ตามปกติ
ส่วนรถ 2 ชั้นที่จะจดทะเบียนใหม่ จะมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด คือ ต้องเป็นรถ 2 ชั้นที่อยู่ระหว่างการยื่นขอจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกและเป็นรถที่อยู่ระหว่างต่อรถที่อู่ต่อรถ ซึ่งทางกรมการขนส่งทางบกกำลังอยู่ระหว่างการสรุปตัวเลขจำนวนดังกล่าว หากไม่เข้าข่ายทั้ง 2 ข้อนี้จะไม่สามารถจดทะเบียนรถ 2 ชั้นเพิ่มได้อีก ปัจจุบันรถโดยสาร 2 ชั้นที่วิ่งให้บริการขณะนี้อยู่ในระบบ 6,145 คัน ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวและรับจ้างรับ-ส่งพนักงานบริษัท นอกจากนี้ ยังมีรถที่อยู่ระหว่างการประกอบรอจดทะเบียนอีก 126 คัน ขณะเดียวกันมีรถที่ประกอบรอการตรวจสภาพและความลาดเอียง เนื่องจากที่ผ่านมาตรวจยังไม่ผ่าน 114 คัน
นายทนงพันธ์ สุทธิพงษ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย ระบุว่า ขนาดของรถโดยสารมีส่วนเพียงเล็กน้อยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากรถโดยสารที่ให้บริการจะต้องผ่านมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ ทั้งรถโดยสารชั้นเดียวต้องมีความสูงไม่เกิน 3.8 เมตร และรถ 2 ชั้น ต้องมีความสูงไม่เกิน 4 เมตร การทรงตัวระดับ 30 องศา โดยมองว่าปัญหาหลักสำคัญ คือ ตัวบุคลากรที่ขาดการส่งเสริมพัฒนาทักษะและสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาภาคเอกชนต้องลงทุนอบรมพัฒนาบุคลากรกันเอง หน่วยงานภาครัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงานขับรถเท่าที่ควร ประกอบกับขณะนี้ธุรกิจรถโดยสารกำลังเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ ทำให้เอกชนบางรายจำเป็นต้องจ้างพนักงานขับรถชั่วคราว (ฟรีแลนซ์) เข้ามาทำงานและขาดการตรวจสอบควบคุมคุณภาพของพนักงานขับรถอย่างเข้มงวด ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง ดังนั้น ภารกิจของสมาคมฯ จึงเน้นไปที่การสร้างมาตรฐานและการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรเป็นหลัก
นอกจากนี้ ยังต้องการให้ผู้ประกอบการที่มีอยู่กว่า 10,000 รายทั่วประเทศเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกสมาคม เพื่อให้ได้รับการส่งเสริมศักยภาพและคุณภาพของพนักงานขับรถ และได้รับการตรวจสอบคุณภาพจากสมาคมสร้างความเชื่อมั่นเป็นมาตรฐานที่ดีขึ้น โดยยอมรับว่าปัจจุบันผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสมาคมมีน้อยมากเพียง 300 รายจากผู้ประกอบการทั้งหมดกว่า 10,000 ราย ขณะที่จำนวนรถที่อยู่ในความดูแลของสมาคมมีประมาณร้อยละ 40 เท่านั้น .-สำนักข่าวไทย