กรมการแพทย์แผนไทยฯ 12 ส.ค.- กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะตำรับยาประสะน้ำนม เพิ่มน้ำนมแม่หลังคลอดด้วยภูมิปัญญาไทย พร้อมแนะนำสมุนไพรบำรุงน้ำนม
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นรากฐานเริ่มต้นของการส่งเสริมสุขภาพเด็ก เพราะนมแม่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สมดุลและดีที่สุด เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการของร่างกาย ระบบประสาท และอวัยวะอื่น ๆ ช่วยป้องกันการเกิดโรคที่พบบ่อยในทารก เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ และทารกที่ได้รับนมแม่จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วน เบาหวาน น้อยกว่าทารกที่ได้รับนมผสม ช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่า เด็กควรได้รับนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน และสามารถให้นมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ขวบ
ปัจจุบันแม่หลังคลอดบางรายประสบปัญหาเกี่ยวกับน้ำนมไม่ไหลหรือน้ำนมไหลช้าไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงลูก ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด การผ่าคลอด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะโภชนาการของแม่ รวมถึงแม่มือใหม่ที่ให้ลูกดูดนมแบบผิดวิธี ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้น้ำนมไหลช้า ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่ยุติการให้นมลูกในระยะเริ่มแรก จากการศึกษาวิจัยสู่การใช้ประโยชน์แก่แม่หลังคลอดในการกระตุ้นให้มีน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารกได้เพียงพอ อันดับแรก คือ การนวดและประคบเต้านม เพื่อกระตุ้นการไหลของน้ำนมและช่วยคลายเครียดของแม่หลังคลอด รวมถึงอาหารที่แม่กินต้องมีสรรพคุณในการบำรุงน้ำนมซึ่งสำคัญมากเช่นกัน เพราะแม่ต้องมีสารอาหารที่ครบถ้วนเผื่อลูกน้อยผ่านน้ำนมแม่ ซึ่งอาหารที่เหมาะสม คือ โปรตีนจากไก่ ปลา เนื้อ นม ผสมผักพื้นบ้านอาหารเป็นยาบำรุงกระตุ้นน้ำนมแม่ เช่น เมนูที่มีส่วนประกอบของพริกไทย ขิง หัวหอม หัวปลี ฟักทอง แมงลัก กล้วย โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าปิ้ง เป็นต้น
ส่วนมนูยอดฮิตของไทยตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน คือ แกงเลียง ที่เป็นวิถีชีวิตแบบธรรมชาติที่สามารถทำได้เอง เป็นอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน
หากจะใช้ยากระตุ้นน้ำนม ให้ใช้ชาชงสมุนไพรบำรุงน้ำนม ซึ่งเป็นสูตรยาบำรุงน้ำนมของโรงพยาบาลวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ประกอบด้วยตัวยา ๕ ชนิด คือ มะตูม ฝาง ขิง ชะเอม เถาวัลย์เปรียง ซึ่งมีผลในการเพิ่มปริมาณน้ำนม จากผลการศึกษาวิจัยพบว่าชาชงสมุนไพรบำรุงน้ำนม มีผลในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณเต้านม มีฤทธิ์ในการลดความเครียด และลดความเจ็บปวดหลังคลอดได้อีกด้วย เพราะสมุนไพรมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ตำรับยาบำรุงน้ำนมนั้น จะแตกต่างกันไปตามการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านและสมุนไพรที่มีในท้องถิ่น และปัจจุบันมีการนำเอาตำรับยาบำรุงน้ำนมหลายขนานเข้าไปใช้ในโรงพยาบาลหรือในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลายแห่งแล้ว เป็นการนำภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยสู่การใช้ประโยชน์ในสถานบริการของรัฐ.- สำนักข่าวไทย
